ค่าเสื่อมราคาของซอฟท์แวร์ (Software) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ค่าเสื่อมราคาของซอฟท์แวร์ (Software) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง



ค่าเสื่อมราคาของซอฟท์แวร์ (
Software) หรือโปรแกรม (Program)

          ไม่ว่าธุรกิจใดก็ตาม ต้องมีการซื้อซอฟต์แวร์ (Software) หรือโปรแกรม (Program) เพื่อนำมาใช้ในการทำงานภายในของธุรกิจ ซึ่งก็มักมีคำถามที่ค้างคาใจอยู่เสมอว่า ซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาใช้ในกิจการนั้นสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายหรือบันทึกเป็นทรัพย์สินดี?

          ซอฟต์แวร์คืออะไร? ซอฟต์แวร์ หรือ Software คือชุดคำสั่งข้อมูลหรือโปรแกรมที่ใช้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์และทำงานเฉพาะเจาะจง ซึ่งตรงข้ามกับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เป็นคำทั่วไปที่ใช้เพื่ออ้างถึงแอปพลิเคชัน, สคริปต์และโปรแกรมที่ทำงานบนอุปกรณ์

          ก่อนจะตัดสินใจว่าจะนำไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายหรือบันทึกเป็นทรัพย์สิน ต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่า เจ้าตัวซอฟต์แวร์ที่เราซื้อกันมานั้นจัดอยู่ในการลงทุนด้านเครื่องมือในการดำเนินงานของบริษัท และมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปีหรือไม่ ถ้าหากว่าซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้อยู่ในลักษณะนี้ก็ถือเป็นการซื้อทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นการลงทุน แต่กรณีที่เป็นรายจ่ายที่จ่ายเพื่อการหากำไร หรือเป็นการจ่ายเพื่อก่อให้เกิดกำไร อันนี้เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่าย

          อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เรามองว่าเป็นการซื้อทรัพย์สิน เราต้องดูด้วยว่าทรัพย์สินนั้นมีอายุการใช้งานเท่าใด สามารถใช้งานได้นานแค่ไหน เพื่อนำมากำหนดอัตราค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอีกที


          แต่บางคนอาจจะคิดแค่ว่าซอฟต์แวร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงคิดอัตราค่าเสื่อมราคาในอัตรา 33.33% ดูแล้วเป็นตัวเลขที่ฟังแล้วดูดีอยู่เหมือนกัน แต่ในทางประมวลรัษฎากรกลับมองว่าเจ้า Software ที่ว่านี้เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ล้วน ๆ พอเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์เราต้องกลับไปดูตารางอัตราค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนด จึงพบว่าค่าลิขสิทธิ์นั้นกฎหมายกำหนดให้หักค่าเสื่อมราคาได้ในอัตรา 10% เท่านั้น หากคิด 33.3% เหมือนหักค่าเสื่อมราคาเครื่องคอมพิวเตอร์อาจจะโดนสรรพากรเรียกตรวจสอบและอาจทำให้ต้องเสียค่าปรับภาษีเพิ่มจากเดิมอีกด้วย

ข้อกฎหมาย ข้อหารือ และแนวทางวินิจฉัยของกรมสรรพากร
          ข้อกฎหมาย
          ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภท โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะจัดอยู่ในมาตรา 4 มาตรา 4 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473)


          ข้อหารือ
          กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัทได้ซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (โปรแกรมบัญชี) และพร้อมใช้งานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทจะหักตาม มาตรา 4แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หรือตามมาตรา 4 จัตวา แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145)พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551


          แนวทางวินิจฉัย
          กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ สิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีสิทธิเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ได้ดังนี้

          1. การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ใน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และกรณีจำกัดอายุการใช้ ในอัตราร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้งาน ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราช กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
          2. การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 4 จัตวา แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473) พ.ศ. 2551 ดังนี้
                    (1) ภายในสามรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยจะเลือกใช้วิธีการทางบัญชีรับรองทั่วไปวิธีใดก็ได้
                    (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวร ซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงาน ไม่เกินสองร้อยคน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละสี่สิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่า ต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน (1)


ขอขอบคุณที่มาของบทความ : กรมสรรพากร

 2195
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์