"ได้รับมรดก" อาจต้อง "เสียภาษี" 2 เด้ง เปิดแนวทางรับมือ "ภาษีมรดก"

"ได้รับมรดก" อาจต้อง "เสียภาษี" 2 เด้ง เปิดแนวทางรับมือ "ภาษีมรดก"

"ได้รับมรดก" อาจต้อง "เสียภาษี" 2 เด้ง เปิดแนวทางรับมือ "ภาษีมรดก"



อย่างที่ทราบกันดีว่า "มรดก" ที่ลูก หลาน ญาติ พี่ น้องได้รับ จะต้องมีการเสียภาษีการรับมรดก แต่ทุกอย่างไม่จบเพียงเท่านี้ รู้หรือไม่ว่าต้องเสียภาษีถึง 2 เด้ง คือก่อนได้รับเสียภาษีกองมรดก 1 รอบ และเมื่อได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีอีก 1 รอบ

ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเสียภาษีรูปแบบนี้นัก เนื่องจากมองว่าเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน และคนได้รับส่วนแบ่งมรดกต้องเสียภาษีกองมรดก ซึ่งเป็นมรดกส่วนที่ตนเองไม่ได้รับอีกด้วย

แต่ทั้งนี้ เจ้าของทรัพย์สินและผู้ได้รับมรดกสามารถวางแผนเพื่อให้ประหยัดภาษีได้ โดยต้องทำความรู้จักกับหลักการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง 3 รูปแบบ คือ

1.ภาษีการรับมรดก
2.ภาษีกองมรดก
3.ภาษีการรับให้

  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนภาษีมรดกที่จะได้รับในอนาคต ว่าต้องทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยลงแบบถูกกฎหมาย โดยเฉพาะผู้รับมรดกที่มีมูลค่ามรดกสูงเกิน 100 ล้านบาท ต้องติดตามอ่านบรรทัดต่อจากนี้ไป

ภาษีการรับมรดก 

ภาษีการรับมรดก (Inheritance tax) เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก ที่เจ้าของทรัพย์สิน หรือเจ้าของมรดกเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะแตกต่างกับภาษีการรับให้ ที่เจ้าของทรัพย์สินจะต้องยังมีชีวิตอยู่

โดยจัดเก็บจากมูลค่าของทรัพย์มรดกตามประเภทที่กฎหมายกำหนด คือ "สังหาริมทรัพย์" และ "อสังหาริมทรัพย์" แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้
   1.อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ
   2.หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ
   3.เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ
   4.ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานทางทะเบียน ได้แก่ รถยนต์ เรือ รถจักรยานยนต์ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศ
   5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายในอนาคต

ทั้งนี้ สำหรับผู้รับมรดกที่เป็น "บุพการี" หรือ "ผู้สืบสันดาน" จะต้องเสียภาษี 5% ของมูลค่ามรดกที่ได้รับ
ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น "ผู้รับพินัยกรรม" จะต้องเสียภาษี 10% ของมูลค่ามรดกที่ได้รับ
แต่ยกเว้น ให้สำหรับคู่สมรส หรือกรณีที่ยกให้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา กิจการสาธารณประโยชน์ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องจ่ายภาษี

ภาษีกองมรดก 

ภาษีกองมรดก (Estate tax) เป็นการจัดเก็บจากกองทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งจะรวบรวมทรัพย์สินที่เป็นมรดกของผู้เสียชีวิตทั้งหมด นำมาคำนวณและเสียภาษีก่อน วิธีการคำนวณภาษีเหมือนการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้ที่มีสิทธิ์รับทรัพย์สินทุกคนจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่เท่ากัน ไม่ว่าจะได้รับทรัพย์สินเป็นจำนวนเท่าไร ได้ส่วนแบ่งมรดกมากหรือน้อยก็ตาม หลังจากนั้นเมื่อมีทรัพย์สินเหลือจากการชำระภาษีแล้ว จึงจะทำการแบ่งให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตเพื่อเสียภาษีการรับมรดกต่อไปหากเข้าเงื่อนไข

การจัดเก็บภาษีรูปแบบนี้ สรรพากรได้จัดเก็บมานานแล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จำนวนมากกว่าการจัดเก็บภาษีการรับมรดก และการจัดเก็บภาษีกองมรดกจะมีการประเมินเพียงครั้งเดียวจึงทำให้สะดวกกับเจ้าหน้าที่ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษี

แต่ในทางกลับกัน วิธีการจัดเก็บภาษีกองมรดก มักไม่ค่อยสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับมรดกมากเท่าไหร่ เพราะทำให้ผู้รับมรดกทุกรายจะต้องเสียภาษีเท่ากันโดยไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนมรดกที่แต่ละคนได้รับ ส่งผลให้ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีเป็นเงินจำนวนมาก

ภาษีการรับให้ 

ภาษีการรับให้ (Gift Tax) เป็นภาษีที่ถูกจัดเก็บในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินหรือทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นภาษีที่จัดเก็บควบคู่ไปกับการเก็บภาษีมรดก เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกนั่นเอง ซึ่งปกติจะเรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ผู้เสียชีวิตให้แก่ผู้อื่นก่อนเสียชีวิต 5-7 ปี

โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีการรับให้ ได้แก่

  • บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
  • บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
  • บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

  โดย "ผู้ให้" และ "ผู้รับ" จะต้องเสียภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท (ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเป็นผู้ให้) และ 20 ล้านบาท (บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเป็นผู้) ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจัดเก็บในอัตราคงที่ 5% หรือเลือกนำมารวมคำนวณภาษีในฐานะเงินได้อื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8) ก็ได้เช่นกัน กฎหมายให้สิทธิเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งในการยื่นแบบคำนวณเสียภาษีได้

แนวทางวางแผนรับมือภาษีมรดก 

จะเห็นได้ว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับการรับมรดกทั้ง 3 รูปแบบนี้ หากวางแผนให้ดีจะทำให้เสียภาษีน้อยลงได้ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างแนวทางวางแผนภาษีมรดกได้ดังนี้

  1. ทยอยโอนทรัพย์สินปีละไม่เกิน 20 ล้าน เป็นการให้โดยเสน่หา เข้าเงื่อนไขภาษีการรับให้ แต่เป็นการทยอยโอนให้ลูกหลานตอนยังมีชีวิตอยู่ ปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ ภาษีการรับมรดก และภาษีกองมรดก ทยอยโอนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทรัพย์สินเหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท 
  2. แบ่งทรัพย์สินมรดกเมื่อเสียชีวิตให้ทายาทคนละไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการรับมรดก แต่จะยังคงต้องเสียภาษีกองมรดกอยู่
  3. แบ่งทรัพย์สินให้ทายาทตอนมีชีวิตอยู่ สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งกรณีนี้หากเลือกแบ่งทรัพย์สินทั้งหมดตอนยังมีชีวิตอยู่ แต่มูลค่าทรัพย์สินเกิน 20 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีการรับให้ 5% หรือเลือกนำมารวมคำนวณภาษีในฐานะเงินได้อื่นๆ แบบนี้จะไม่เสียภาษีกองมรดกและภาษีการรับมรดก

ดังนั้น ใครที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก อาจต้องเริ่มวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ไว้แต่เนิ่นๆ ว่าควรจะยกให้ก่อนเป็นการให้โดยเสน่หา หรือจะรอไว้แบ่งเป็นมรดก แบบไหนจะเสียภาษีน้อยกว่ากัน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สินของแต่ละคนด้วย จึงต้องลองนำไปคำนวณเพื่อวางแผนว่าแบบไหนเหมาะกับตนเองที่สุด



 517
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์