5 เรื่องสำคัญที่จะอยู่กับ 'ธุรกิจ' ไปอีก 5 ปี

5 เรื่องสำคัญที่จะอยู่กับ 'ธุรกิจ' ไปอีก 5 ปี





 

 

          จับตา 5 เรื่องสำคัญที่จะอยู่กับ "ธุรกิจไทย" ไปอีก 5 ปี จากการที่ต้องปรับตัวรับกับวิกฤติโควิด-19 และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ใครต้องปรับตัวบ้าง? และจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน?

          ปี 2563 ที่กำลังผ่านไปถือว่าตื่นเต้นมากแล้ว พอเจอข่าวการระบาดระลอกสองรับต้นปี 2564 บอกได้เลยว่าชีวิตยังมีอะไรให้ได้ตื่นเต้นไปอีกหลายเดือน โดยเฉพาะในวงการธุรกิจที่ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ได้บีบให้คนทั้งโลกวิ่งหน้าตั้งไปสู่โลก 4.0 องค์กรต่างๆ ถูกบังคับให้ทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลต่อวงการธุรกิจไปอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี

          ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเห็นตรงกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิดจะเป็นรูปตัว K นั่นคือมีคนกลุ่มหนึ่งที่รายได้เพิ่มขึ้นเพราะปรับตัวได้ก่อน มีความพร้อมมากกว่า ทิศทางรายได้ของพวกเขาจึงพุ่งขึ้นไป คนอีกกลุ่มหนึ่งรายได้จะดิ่งลง เนื่องจากปรับตัวไม่ทัน ปรับตัวไม่ได้ หรือปรับตัวไม่เป็น สำหรับธุรกิจการจะไปอยู่บนส่วนขาขึ้นของตัว K ได้เราต้องเข้าใจเรื่องสำคัญ 5 เรื่องด้วยกัน

          เรื่องที่ 1 ธุรกิจที่ตั้งหน้าตั้งตารีดกำไรจะพ่ายแพ้ต่อธุรกิจที่ใส่ใจสังคมและความยั่งยืน เนื่องจากลูกค้าจะมีความคาดหวังในมาตรฐานการทำธุรกิจที่สูงขึ้น มาตรวัดความคุ้มค่าของลูกค้าไม่ใช่แค่ของดีต่อตัวเองแต่ต้องเป็นของที่ซื้อแล้วรู้สึกดีว่า เขาไม่ได้ไปสนับสนุนธุรกิจที่ทำร้ายสังคมทำร้ายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การจะได้เงินจากลูกค้า ลำพังสินค้าหรือบริการดีตรงใจตรงความต้องการของลูกค้ายังไม่พอ ยังต้องเป็นธุรกิจที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมด้วย

          เรื่องที่ 2 ความสามารถในการปรับตัวสำคัญกว่ากำไร หมดยุคของการใช้กำไรสูงสุดมาเป็นเป้าหมายของธุรกิจ เพราะเป้าหมายสูงสุดมาจากประสิทธิภาพสูงสุด ประสิทธิภาพสูงสุดมาจากการผลิตสินค้าในปริมาณพอเพื่อให้ต้นทุนต่อชิ้นต่ำสุด หลังจากนี้ไปเมื่อลูกค้าเคยชินกับการค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตก็จะรู้จักเลือกมากขึ้นเพื่อให้ได้ของที่ตรงใจ 

สินค้าที่ “เกือบใช่” จะพ่ายแพ้ต่อสินค้าที่ “ใช่” ลูกค้าที่เคยซื้อของเรา 100 คน อาจหายไปเกือบครึ่ง แถมลูกค้ายังเปลี่ยนใจเร็ว ของที่เคยชอบวันนี้พรุ่งนี้อาจจะไม่ชอบก็ได้ ธุรกิจไหนปรับตัวได้เร็วกว่าย่อมได้เงินลูกค้าไปก่อน ความยั่งยืนของธุรกิจจึงไม่ขึ้นอยู่กับกำไรสูงสุด แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้เกิดรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องและทำกำไรได้ต่ออย่างเนื่อง

          เรื่องที่ 3 การบริหารความสัมพันธ์ในองค์กรแบบอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ การทำงานอยู่กับบ้านในช่วงที่มีการระบาด ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อลดจำนวนคนต่อพื้นที่ในที่ทำงาน พนักงานส่วนหนึ่งทำงานอยู่กับบ้าน การบริหารจัดการคนที่อยู่ในออฟฟิศคู่ไปกับคนทำงานจากที่บ้าน ต้องมีรูปแบบการบริหารความสัมพันธ์ที่ต่างออกไป ทั้งในแง่ของเวลาทำงาน การประเมินผลการทำงาน รวมถึงการกำหนดรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม ไม่ให้ธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และยังทำให้คนที่ต้องทำงานจากที่บ้านรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ยังได้รับการดูแลห่วงใยเหมือนเดิม

          เรื่องที่ 4 คนจะกลายเป็นภาระของธุรกิจ ในบางธุรกิจต้นทุนของคนเป็นต้นทุนเกินครึ่งหนึ่งของธุรกิจ เมื่อต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อให้ทันลูกค้า นำหน้าคู่แข่ง ในยุคที่เทคโนโลยีสามารถทำงานแทนคนได้ คนที่จะรักษาเอาไว้จึงต้องเป็นคนที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง ปรับตัวได้ดี มีทักษะที่เทคโนโลยียังทำแทนไม่ได้หรือทำแทนได้ไม่ค่อยดี เป้าหมายของธุรกิจจึงไม่ใช่การรักษาคน แต่เป็นการเลือกว่าปล่อยใครออกไปถึงจะช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้ในระยะยาว

          เรื่องที่ 5 คู่แข่งนอกสายตาน่ากลัวพอกับคู่แข่งในสายตา ธุรกิจที่สามารถยกระดับความสามารถในการปรับตัว มีคนเก่ง มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ย่อมสามารถกระโจนเข้าหาโอกาสที่อยู่ในธุรกิจอื่นได้ง่าย ได้เร็ว และได้ผล ดังนั้น การจับตามองแต่คู่แข่งในวงการไม่พอ ต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้างมองหา “ม้านอกสายตา” ทั้งหลายที่มีโอกาสเข้ามาเปิดศึกกับเราได้ 

          ที่สำคัญต้องมีแผนสำรองเสมอว่าถ้าวันดีคืนดีมีม้านอกสายตาเข้ามาแข่งแล้วทำได้ดีพอกันหรือดีกว่า เราจะทำยังไงต่อไปดี การมีแผนสำรองจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีจึงเป็นเรื่องสำคัญ


ที่มา : www.bangkokbiznews.com

 482
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์