วิธีรับมือกับการหลอกโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม

วิธีรับมือกับการหลอกโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม





 

          เรื่องราวของมิจฉาชีพที่โทรศัพท์มาหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ตามอัตราการเติบโตของการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ประมาณ 40 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้มีการพูดคุยกับพี่น้องเพื่อนฝูง ก็พบว่าคนส่วนใหญ่จะโดนโทรศัพท์ประเภทนี้ด้วยเช่นกัน
    
          ระยะเริ่มแรกของการหลอกลวงจะเป็นการโทรศัพท์มาแจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือโทรศัพท์มือถือ ของบริษัทชื่อดัง จะมีการส่งสินค้ามาให้จึงโทรศัพท์ (ซึ่งมีทั้งแบบประเภทที่ปรากฏหมายเลข หรือไม่ปรากฏหมายเลขติดต่อ) ติดต่อมาดำเนินการเพื่อการโอนภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาก่อน จึงทำให้เหยื่อตายใจ ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มทันทีเพราะคิดว่าเสียเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อลาภก้อนใหญ่กว่า มุกนี้แม้จะเก่าแก่ไปหน่อย แต่ก็ยังใช้ได้และมีผู้ตกเป็นเหยื่อเพราะความโลภ ในปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาโดยลำดับ ที่นิยมกันมาก คือการใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น การแอบอ้างว่าโทรศัพท์มาแจ้งว่ามีหมายจับ อยากรู้ให้กด 1 กด 2 อาศัยความตื่นตกใจของเหยื่อ จึงใช้ได้ผล และพอ ๆ กับการแอบอ้างว่าโทรฯ มาจาก ศูนย์บัตรเครดิตของสารพัดธนาคาร ใช้ระบบอัตโนมัติแจ้งว่ามีหนี้ค้างชำระหลักหมื่นหลักแสน หรือแจ้งว่ามีการนำเอาบัตรเครดิตชื่อของคุณไปซื้อสินค้ามูลค่าสูง
          หากคุณแจ้งว่าไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน บรรดามิจฉาชีพก็จะอธิบายให้เสร็จสรรพว่าอาจเป็นการขโมยข้อมูลไปใช้โดยไม่รู้ตัว เดี๋ยวจะโอนสายไปให้หน่วยงานของ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานสอบสวนคดีพิเศษบ้าง เพื่อจะได้ทำการแก้ไขบัญชีข้อมูลของคุณ ซึ่งในท้ายที่สุดก็คือหลอกเหยื่อไปที่หน้าตู้เอทีเอ็มกดทำรายการตามคำแนะนำ กว่าจะรู้ตัวเงินก็หายไปเกลี้ยงบัญชี หรือหากเป็นช่วงกลางปี ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งการขอคืนภาษีของมนุษย์เงินเดือน วิธีที่ฮอตฮิตที่สุดก็คือการแอบอ้างว่าโทรฯ มาจากกรมสรรพากร มีเช็คคืนภาษี ต้องรีบเข้าบัญชีด่วน ก่อนเช็คหมดอายุ แล้วจะอดได้เงินคืน วิธีนี้ก็ประสบความสำเร็จมากด้วยเช่นกัน

 
          แม้จะมีการเปิดโปงกันออกมาถึงวิธีการสารพัดที่กล่าวมาแล้ว โดยสถาบันการเงินและผู้ออกบัตรเครดิต สรรพากร ศาล หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมาแถลงชี้แจง ให้ทราบถึงภัยอันตรายจากการหลวกลวงให้โอนเงินผ่านทางเอทีเอ็ม ดังกล่าว ว่าไม่มีนโยบายการโทรศัพท์ติดต่อกับลูกค้าในลักษณะดังกล่าว ทางสรรพากรก็ออกมาชี้แจงว่าจะไม่มีการคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านตู้เอทีเอ็มแต่จะเป็นการสั่งจ่ายด้วยเช็คบัญชีขีดคร่อมเท่านั้น

ก็คงอยากจะขอบอกเล่าเคล็ดลับวิธีการรับมือกับมิจฉาชีพเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

          หนึ่ง จะต้องไม่โลภหากมีโทรศัพท์ มาแจ้งว่าท่านโชคดีได้รับรางวัลสินค้า หรือรางวัลเป็นเงิน ก็บอกว่าจะขอติดต่อไปยังบริษัทของผู้แจ้งมาเองแล้วก็วางหูไป โดยไม่เสียเวลาไปคุยด้วยที่จะทำให้ถูกเกลี้ยกล่อมให้เคลิบเคลิ้มกับลาภลอย

          สอง หากมีโทรศัพท์มาแจ้งเรื่องหนี้บัตรเครดิต(ที่ท่านอาจจะมีบัตรหรือไม่มีบัตรเครดิตนั้น ๆ ก็ตาม) ก็รับทราบการแจ้งเรื่องนั้น และให้ถามกลับ ชื่อ นามสกุลของผู้แจ้งหากทางด้านปลายสายกล้าแจ้งชื่อและนามสกุล (ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นชื่อนามสกุล ปลอม) ถึงขั้นนี้แล้วก็คงให้ถามต่อถึงเลขบัตรประชาชน ซึ่งพอถึงขั้นนี้ทางฝ่ายนั้นก็อาจจะล่าถอยด้วยการวางสายไปเลย 

          สาม หากมิจฉาชีพนั้นยังใจกล้าที่จะบอกหมายเลขบัตรประชาชน(ซึ่งเป็นหมายเลขปลอมด้วยเช่นกัน) ก็คงถึงขั้นที่เราจะยอม (เป็นพลเมืองดี) คือไปที่หน้าตู้เอทีเอ็ม แต่ต้องมั่นใจว่าตนเองรู้จักคุ้นเคยกับการใช้ตู้เอทีเอ็มที่จะไม่ถูกหลอกให้โอนเงินไปจากบัญชีของเรา แต่จะจดเอาเลขบัญชีที่เขาจะให้เราโอนเงินเข้าไปเก็บไว้เพื่อให้ทางตำรวจนำไปสืบสวนถึงแหล่งหรือบัญชีของมิจฉาชีพเพื่อการดำเนินคดีต่อไปและหรือบอกไปเลยว่าคุณมีอาชีพเป็นตำรวจหรือทำงานที่สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยวิธีนี้เชื่อว่าพวกแก๊งหลอกลวงก็จะรีบวางหูโทรศัพท์ไป

         

   

 ที่มา : www.pattanakit.net

 583
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์