คุณพร้อมหรือยังกับ สรรพากรยุค 4.0

คุณพร้อมหรือยังกับ สรรพากรยุค 4.0



เมื่อสรรพากรก้าวสู่ยุค 4.0 มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แล้วคุณเองพร้อมปรับตัวหรือยัง 

ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ผมคิดว่าปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องของภาษี ตั้งแต่เรื่องของนโยบายใหม่ ๆ กฎหมายต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าให้ฟังในวันนี้ตามหัวข้อที่เขียนไว้ นั่นคือ “ยุคสรรพากร 4.0 ที่ว่านี่แหละครับ

ผมคิดคำนี้เล่น ๆ หลังจากที่ได้ฟังสรุปจากงานสัมมนาในหัวข้อ “ความร่วมมือกับสำนักงานบัญชีเพื่อการแนะนำด้านภาษีอากรที่มีคุณภาพ” แล้วเลยคิดว่ายุคนี้ควรถูกเรียกว่ายุคสรรพากร 4.0 ได้แล้วครับ เพราะว่าแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เรียกได้ว่าเล่นเอานักบัญชีหลายคนต้องคิดหนักไปตาม ๆ กัน

เพราะอะไรน่ะเหรอครับ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น มันกำลังจะทำให้แนวทางการตรวจสอบภาษีและการทำงานของนักบัญชีเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันครับ


แนวทางการเปลี่ยนแปลง

เอาเป็นว่าอย่ามัวอารัมภบทให้ตื่นเต้น เรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่าแนวทางการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมสรุปมาเป็นแนวทางให้ทั้งหมด 3 ประเด็นสำคัญ ๆ ตามนี้ครับ

1.มุมมองใหม่

ภาพลักษณ์เดิมระหว่างสรรพากรกับสำนักงานบัญชีที่ตบตี เอ้ย!! พูดคุยกัน จะเปลี่ยนแปลงเป็นการร่วมมือกันแทน เพื่อให้ความรู้ในการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง ชอบธรรมและยั่งยืนสำหรับธุรกิจครับ

ตรงนี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่ผมมองว่า กรมสรรพากรมุ่งที่จะเดินหน้าไปพร้อม ๆ กันกับผู้ประกอบการและสำนักงานบัญชี ที่ไม่ได้มองเพียงแค่จำนวนเงินภาษีที่เก็บได้ แต่มุ่งไปที่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนร่วมกันมากกว่าครับ

2.เครื่องมือการตรวจสอบใหม่

หลังจากนี้กรมสรรพากรจะใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่เรียกว่า RBA หรือ Risk Base Audit System ซึ่งผ่านการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากแหล่งข้อมูลภายนอกและภายในกรมสรรพากร และเชื่อมโยงกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีเกณฑ์การคัดเลือกให้คะแนนความเสี่ยงประมาณ 132 เกณฑ์ ซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

แหล่งที่มาของเกณฑ์เหล่านี้จะมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงิน แบบแสดงรายการภาษี อัตราส่วนทางการเงินและค่ามาตรฐานต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น GDP มีเกณฑ์หนึ่งที่ใส่เข้ามาและคิดว่าน่าจะเป็นประเด็น นั่นคือ การเลือกใช้ผู้สอบบัญชีและผู้ทำบัญชีที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเช่นเดียวกัน

3.วิธีการตรวจสอบใหม่

กรมสรรพากรใช้การตรวจแนะนำด้านภาษีเป็นวิธีหลัก โดยพิจารณาจากการยื่นแบบ การวิเคราะห์และการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษี การตรวจปฏิบัติการ และการออกหมายเรียก ซึ่งลำดับความรุนแรงและการเลือกใช้นั้นจะแตกต่างกันไป และไม่จำเป็นต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีและความเหมาะสมของเครื่องมือต่าง ๆ ในการพิจารณาตามข้อ 2 ครับ


เปลี่ยนแล้วยังไงต่อ?

ในแง่ของผู้ประกอบการเอง ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือ ข้อมูลการยื่นแบบภาษีที่ถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงครับ เพราะความสอดคล้องของข้อมูลในตอนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีที่ใช้เทคนิคหรือวิธีทางบัญชีเดิม ๆ ที่มีนั้นอาจจะทำให้ลำบาก เช่น สร้างรายจ่ายโดยนำบัตรประชาชนหัก ณ ที่จ่ายมาใช้ อาจจะเจอแจ็กพ็อตในกรณีที่คนนั้นลงชื่อผู้มีรายได้น้อยไว้ หรือการคิดราคาขายต่าง ๆ ที่ต่ำกว่าราคาตลาดนั่นเองครับ

ดังนั้นในภาพรวมระยะยาว คือ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้านภาษี ฉะนั้นถ้าหากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดและมุมมองในการเสียภาษีใหม่ อาจจะมีชีวิตลำบากในทางภาษีได้ครับ

หากมองในอีกแง่หนึ่ง ถ้าหากระบบนี้สำเร็จจริง ๆ ผมมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องให้สามารถแข่งขันได้จริง ๆ และจำนวนเงินภาษีที่มากขึ้นนั้นย่อมจะทำให้ฐานภาษีต่ำลงได้ในอนาคตครับ



ที่มา: dharmniti

 775
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์