6 เทรนด์ด้านไอที ช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ

6 เทรนด์ด้านไอที ช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ

< 6 เทรนด์ด้านไอที ช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ

  

       ทุกๆ สิ้นปี บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยชั้นนำของโลกอย่าง ไอดีซี การ์ทเนอร์ ฟอร์เรสเตอร์ และแมคคินซีแอนด์คอมปานี ต่างออกรายงานคาดการณ์แนวโน้มด้านไอที เพื่อเป็นไอเดียในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ โดยปีนี้ 2562 ต่างก็เห็นตรงกันว่า “คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊ก ดาต้า ไอโอที ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และความปลอดภัยทางไซเบอร์จะยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องอีก 3-5 ปีจากนี้ องค์กรใดที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้และจัดวางการใช้งานได้ถูกที่ถูกทาง เท่ากับเป็นการปูรากฐานทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง และสร้างความได้เปรียบสำหรับยุค เศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งขับเคลื่อนด้วย ฐานข้อมูล นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์บนระบบงานที่เน้นความเป็น ออโตเมชั่นแบบครบวงจร

 

คลาวด์คอมพิวติ้ง เอดจ์คอมพิวติ้ง

การเริ่มต้นใช้งาน “คลาวด์ คอมพิวติ้งไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ส่วนตัว คลาวด์สาธารณะ ไฮบริดคลาวด์ จะมองถึงความคุ้มทุนที่เกิดจากการแชร์ใช้ทรัพยากรไอทีร่วมกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่จากนี้ไป คลาวด์จะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจมากขึ้น และในปีนี้ มัลติคลาวด์จะถูกพูดถึงเป็นพิเศษ ด้วยแนวทางที่เปิดกว้างให้กับองค์กรในการใช้งานคลาวด์จากผู้ให้บริการหลายรายควบคู่กันไป เพื่อให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะด้าน ส่วนตัวช่วยใหม่ที่จะมาเติมประสิทธิภาพของคลาวด์ ได้แก่ เอดจ์ คอมพิวติ้ง (Edge Computing)” ที่จะมาช่วยลดโหลดการทำงานบนคลาวด์ โดยให้อุปกรณ์ปลายทางสามารถจัดการตัวเองได้ เสริมด้วย แอปพลิเคชันในแบบไมโครเซอร์วิส (Micro Services)” ซึ่งเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่แยกออกเป็นส่วนย่อยๆ ตามฟังก์ชั่นใช้งาน เพื่อให้ง่ายต่อการปรับปรุงแก้ไขผ่านคลาวด์ได้ในเวลาที่รวดเร็ว และทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

 

บิ๊กดาต้า

ขณะเดียวกัน ในยุคที่ผู้คนหันมานิยมแสดงความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมผ่านแฮชแท็กซ์ อิโมจิ สติกเกอร์ไลน์ หรือยูทูป การหลั่งไหลของข้อมูลผ่านอุปกรณ์ไอโอที หรือการประกอบธุรกรรมออนไลน์ ทำให้ “บิ๊ก ดาต้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับของ เทราไบต์ไปแล้ว วันนี้ต้องคุยกันที่ระดับ เซตตาไบต์ (Zettabyte)” เต็มไปด้วยข้อมูลแบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง และหน้าตาที่หลากหลายซึ่งไม่ใช่แค่ตัวอักษรหรือรูปภาพอีกต่อไป เครื่องมือวิเคราะห์ บิ๊กดาต้า จึงกำลังถูกพัฒนาให้ทำงานได้ฉลาดขึ้นในการ กลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช่และส่งต่อสู่กระบวนการสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือที่เรียกว่า บิซิเนส อินเทลลิเจนส์ นั่นเอง เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่จากข้อมูลที่หลากหลายให้กับผู้บริหาร รวมถึงต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรม เช่น เออาร์/วีอาร์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน หรือ เพิ่มโอกาสทางการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่โดนใจ และเข้าถึงตัวตนของ ลูกค้าหรือผู้บริโภคในระดับที่รู้ว่า ชอบอะไร ซื้อเมื่อไหร่ และอนาคตอยากซื้ออะไร จนเกิดเป็นความภักดีต่อแบรนด์ยิ่งกว่าเดิม

  

ไอโอที

ไอโอทีก็ให้เราได้มากกว่าการเป็นแค่โปรโตคอลหนึ่งที่มีไว้เชื่อมต่ออุปกรณ์ แต่มันคือแพลตฟอร์มที่สามารถ สร้างและขยายพื้นที่แสดงผล และส่งต่อข้อมูลที่หลากหลายแบบไม่จำกัดโครงสร้างซึ่งองค์กรเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การใช้เป็นเครื่องมือส่งต่อ นวัตกรรมข้อมูลในรูปแบบความจริงเสมือน (เออาร์/วีอาร์)เพื่อสื่อสารหรือปลุกกระแสความนิยมในสินค้าและบริการ หรือชูภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งของแบรนด์ผ่านอุปกรณ์ BYOD ตรงถึงมือลูกค้า การต่อยอดไอโอทีให้อยู่ในรูปของ เซ็นเซอร์และอุปกรณ์อัจฉริยะที่ช่วยองค์กรในการตรวจติดตาม หรือควบคุมกระบวนการผลิตในงานอุตสาหกรรม คุณภาพของสินค้าหรือบริการ การใช้งานไอโอทีในการผลักดันการเติบโตของตลาดการค้าบนโลกออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถขยายพื้นที่การขาย เพิ่มเติมฐานลูกค้า หรือพบช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ

  

เอไอ อยู่ในทุกที่

การจับมือระหว่างไมโครซอฟท์และฟิตบิทในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนวินโดว์ 10 ที่ผสมผสานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี เพื่อสร้างโปรแกรมคำนวณการออกกำลังกายที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลได้ทันทีผ่านสมาร์ทโฟน อเมซอนช็อปปิ้ง พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์เครื่องแต่งกายจากข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสไตล์และแฟชั่น เพื่อเป็นผู้ช่วยด้านแฟชั่นแบบเวอร์ช่วลให้กับนักช็อปทั้งหลาย คือ ตัวอย่างการเติมเต็มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่าน “เอไอซึ่งนอกจากจะสามารถ สร้างการรับรู้ โต้ตอบ หรือปฏิบัติการได้ทันทีที่ร้องขอยังเป็นการยกระดับความเป็นนวัตกรรมของแบรนด์ในสายตาลูกค้า นอกจากนี้ ข้อมูลหรือพฤติกรรมการโต้ตอบของลูกค้ากับเอไอ ยังนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปรับปรุงเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสการขาย โดยเน้นการนำเสนอในจุดที่ลูกค้าสนใจ หรือจากมุมที่ดีที่สุดของสินค้าและบริการ จนสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจจาก เดี๋ยวค่อยซื้อเป็น อยากซื้อเดี๋ยวนี้

  

บล็อกเชน

ขีดความสามารถของ “บล็อกเชนที่ขยายผลจากโลกของฟินเทคสู่โลกของการจัดการธุรกิจ เป้าหมาย คือ สร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และตรวจสอบได้ด้วยหลักการ การจัดเก็บฐานข้อมูลแบบกระจาย (Distributed Database) ที่ต่อตรงถึงกันทั้งหมดภายในเครือข่ายโดยไม่ต้องมีตัวกลางประมวลผลเหมือนฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ การปรับปรุงทุกฐานข้อมูลในเครือข่ายให้ทันสมัยจึงทำได้พร้อมกันทันที ซึ่งลดทั้งเวลาและขั้นตอนการทำงาน การสร้างความโปร่งใสน่าเชื่อถือจากการที่ทุกฐานข้อมูลในเครือข่ายสามารถตรวจสอบย้อนกลับไป-มาซึ่งกันและกันถึงความถูกต้อง ที่มาที่ไป และการเคลื่อนไหวของข้อมูล หรือธุรกรรมต่างๆ ได้ ขณะเดียวกัน การขโมย ปลอมแปลง หรือทำลายระบบจะต้องเจาะถึงทุกฐานข้อมูลในเครือข่ายพร้อมๆ กันและในเวลาเดียวกันจึงจะสำเร็จ ซึ่งนั่นทำให้บล็อกเชนได้รับการยอมรับว่า มีความปลอดภัยสูง ตัวอย่างของบล็อกเชนที่ใช้ในเชิงธุรกิจ เช่น ไอบีเอ็มซึ่งได้พัฒนาแพลตฟอร์มบนบล็อกเชนที่ชื่อว่า ฟู้ดทรัสต์ (Food Trust)” ในการติดตามตรวจสอบซัพพลายเชนที่อยู่ในกระบวนการจัดหาและส่งมอบผลิตผลทางอาหารถึงมือผู้บริโภค โดยตัวผู้บริโภคเองก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยืนยันแหล่งที่มา คุณภาพ และความสดใหม่ของสินค้าได้

  

ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์

ประสิทธิภาพของ “ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ต้องตอบโจทย์ให้ตรงจุดในเรื่อง ป้องกันความเสี่ยงและสร้างความไว้วางใจ (Risk & Trust)” ในอดีต เราเคยมี เกตเวย์ ไฟร์วอลล์ เป็นปราการป้องกันระบบไอทีขององค์กร แต่ยังไม่พอสำหรับการปกป้องทรัพย์สินสารสนเทศโดยเฉพาะ ข้อมูลที่อยู่บนโลกออนไลน์และคลาวด์ ไอดีซี ได้เสนอแนะแนวคิด ซีโร่ ทรัสต์ ซีเคียวริตี้ (Zero Trust Security)” บนหลักการที่ว่า อย่าไว้ใจกันง่ายๆโดย ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัยของข้อมูลบนคลาวด์หรือออนไลน์ในการตรวจจับผู้บุกรุกจากภายนอก และป้องกันการรั่วไหลโดยคนใน ซึ่ง กูเกิล ได้นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาระบบความปลอดภัยของข้อมูล ภายใต้โครงการบียอนคอร์ป (Beyond Corp) แล้ว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มความปลอดภัยที่พัฒนาบน เอพีไอแบบเปิด (Open APIs)” ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาอุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย โดยองค์กรสามารถพัฒนาเพิ่มเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่จะช่วยเติมพลังให้กับองค์กร เพื่อพร้อมสู้ศึกการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล โลกซึ่งความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและข้อมูล คือ หนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจ

  

ที่มา :https://www.smartsme.co.th/content/217631

 1840
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์