“งบการเงิน” กระจกสะท้อนความสามารถธุรกิจและการลงทุน

“งบการเงิน” กระจกสะท้อนความสามารถธุรกิจและการลงทุน

“งบการเงิน” กระจกสะท้อนความสามารถธุรกิจและการลงทุน

งบการเงินหรือ Financial Statements เป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยทั่วไปจะประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet) งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Income Statement) งบแสดงส่วนของผู้ถือหุ้น (Statement of Changes in Shareholder Equity) งบกระแสเงินสด (Statement of Cashflow) และหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement)

“งบการเงิน” เป็นรายงานทางบัญชีที่สามารถสะท้อนฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดและส่วนของผู้ถือหุ้น ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือเรียกได้ว่า เป็นกระจกเงาที่สะท้อนความสามารถในการดำเนินงานตามแผนงานและกลยุทธ์ของธุรกิจที่วางไว้ได้อย่างไรบ้างนั่นเอง

งบการเงินมีความสำคัญต่อทั้งบุคคลภายในและภายนอกองค์กรธุรกิจ กล่าวคือ งบการเงินมีความสำคัญต่อธุรกิจที่จัดเตรียมงบการเงิน ในแง่ของการแสดงให้เห็นภาพรวมและเพื่อใช้วิเคราะห์ผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามแบบแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ หรือใช้เป็นบรรทัดฐานในการตั้งเป้าหมายและใช้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย

นอกจากนี้ความสำคัญของงบการเงินในแต่ละธุรกิจยังมีความสำคัญต่อบุคคลภายนอก กล่าวคือ “นักลงทุน” ที่มีความสนใจในการลงทุนในธุรกิจนั้นๆ งบการเงินที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่ดี ย่อมดึงดูดนักลงทุนในการตัดสินใจร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าวนั่นเอง หรือจะเป็นในส่วนของการดำเนินการกู้ยืมเงินจากผู้ให้บริการแหล่งเงินทุก ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลภายนอกที่ใช้งบการเงินในการพิจารณาการอนุมัติเงินกู้ยืมธุรกิจ งบการเงิน จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจในการใช้จัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินต่างๆ นั่นเอง

งบการเงิน หลักๆ ที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของธุรกิจได้มากที่สุดนั่นก็คือ

  • งบแสดงฐานะทางการเงิน หรือ งบดุล ประกอบด้วยข้อมูลอันเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างธุรกิจได้แก่ ทรัพย์สิน หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ทุน นั่นเอง โดยสัดส่วนของ “สินทรัพย์” จะแสดงให้เห็นถึงส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ที่กิจการใช้ในการดำเนินธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น เงินสด ลูกหนี้ อาคาร และ/หรือเครื่องจักร เป็นต้น ตัวเลขที่แสดงในส่วนของ “หนี้สิน” ยกตัวอย่างเช่น หนี้สินระยะสั้น (Short-term Loan) และ/หรือ หนี้สินระยะยาว (Long-term Loan) แสดงภาระหนี้สินของธุรกิจที่มีอยู่ และส่วนสุดท้ายคือ “ทุน” หมายถึง ทุนที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุนโดยอาจเป็น เงินสด หรือกำไรสะสมที่ยังไม่ได้แบ่งออกให้เจ้าของกิจการก็ได้

    การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จาก “งบดุล” ช่วยให้ผู้ประกอบกิจการ รวมถึงนักลงทุน ทราบถึงฐานะและความมั่นคงของกิจการ รวมถึงสภาพคล่อง (Liquidity) เพื่อใช้ในการพิจารณาการกู้ยืมเงินเพื่อธุรกิจก็ได้ โดยสามารถสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้คืนได้อีกด้วย
  • งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรืองบกำไรขาดทุน แสดงข้อมูลเกี่ยวกับ รายได้ ค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไรหรือขาดทุนในหนึ่งงวดบัญชีหรือ 12 เดือน โดยตัวเลขในงบกำไรขาดทุนสามารถสะท้อนความสามารถในการดำเนินงานของกิจการได้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ตัวเลขเพื่อคำนวณอัตราส่วนทางการเงินเพื่อวางแผนนโยบาย และกลยุทธ์ต่างๆ เช่น อัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไร (Gross Profit Margins) เพื่อวางแผนการลดค่าใช้จ่ายเพื่อการทำกำไรให้มากขึ้น เป็นต้น

    ในแง่ของนักลงทุนเอง การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนของกิจการ ทำให้นักลงทุนเห็นภาพเกี่ยวกับ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกิจการ เพื่อเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ช่วยในการประกอบการตัดสินใจลงทุนในกิจการนั้น เช่น การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัทกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรทเดียวกัน หรือการวิเคาระห์มีแนวโน้มของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าจะมีทิศทางใดในอนาคต เป็นต้น (อ่านเกี่ยวกับ “การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน”)

แม้ว่า “งบกระแสเงินสด” จะไม่มีความจำเป็นในการจัดทำในธุรกิจขนาดเล็ก และ “งบกระแสเงินสด” ก็ถือว่ามีความสำคัญไปไม่น้อยกว่า “งบดุล” และ “งบกำไรขาดทุน” เลย เพราะ งบกระแสเงินสดนี้เองที่จะสะท้อนให้เห็นภาพเกี่ยวกับการรับ-จ่ายเงินสด ออกไปในกิจกรรมต่างๆ ของกิจการ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักถึงสภาพคล่องของกระแสเงินสดได้อย่างแท้จริง โดยธุรกิจขนาดเล็ก อาจจัดทำงบกระแสเงินสดเพื่อใช้แต่ภายในบริษัทก็ได้

ที่มา: https://www.moneywecan.com/related-contents/financial-statements-for-businesses-and-investors/

 4741
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์