ทำธุรกิจในกลุ่ม มาตรา 40(8) หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีใดได้บ้าง
ตามหลักการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้ที่สามารถหักภาษีได้จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล แต่ธุรกิจที่ทำในนามบุคคลธรรมดาที่ไม่เข้าข่ายในกลุ่มมาตรา 40(1) – 40(7) หรือจัดอยู่ มาตรา 40(8) นั่นเอง ในบางกรณีสามารถหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินเพื่อใช้บริการตามประเภทรายจ่ายที่กฎหมายกำหนดได้
ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า “ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน”
โดยอธิบายได้ว่า บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการร้านค้า หรือบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจ่ายค่าบริการ ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นๆ ในบางประเภทรายจ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประเภทของรายจ่ายนั้นๆ ด้วย อย่างเช่น ธุรกิจค้าขายที่มีการจ้างพนักงานประจำ เจ้าของธุรกิจในนามบุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน และหากรายได้รวมทั้งปีของพนักงานถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี เจ้าของธุรกิจสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า หารด้วย 12 เดือน ก่อนจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในแต่ละเดือนได้
ทั้งนี้ สามารถสรุปภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่กิจการในนามบุคคลธรรมดา สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ และหักไม่ได้ ดังนี้
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา เมื่อมีการจ้างพนักงานประจำ และจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีก้าวหน้า 5-35% สำหรับพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และยื่น ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก
ทั้งนี้ ถ้าหากเงินเดือนยังไม่เกิน 26,000 บาท ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ต้องยื่น ภ.ง.ด.1ก
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างหรือผู้จ่ายเงินในการทำธุรกรรมประเภทการจ้างงานอิสระ ฟรีแลนซ์ หรือการว่าจ้างผู้ให้บริการ เช่น ที่ปรึกษา กราฟิก นักออกแบบ นักบัญชี วิทยากร เป็นต้น ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพราะว่าไม่ได้เป็นพนักงานประจำ
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งได้มีการจ่ายค่าเช่าสำนักงาน โกดังเก็บของ หรือรถเช่า กล่าวคือหากกิจการมีการเช่าสำนักงาน โกดัง หรือรถเช่าจากบุคคลธรรมดา ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา และได้จ่ายค่าจ้างทำของให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยไม่ได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5%
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา หากมีการจ่ายค่าบริการโรงแรมและภัตตาคาร จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต กิจการไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายค่ารางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในอัตรา 5%
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายค่านักแสดงสาธารณะ เช่น นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุและโทรทัศน์ นักร้องนักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ในอัตรา 5-37% ส่วนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศ ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%
การหักภาษี ณ ที่จ่ายของกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา เมื่อซื้อพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังไม่ได้เจียระไน แต่ไม่รวมถึงสิ่งทำเทียม เพชร ไข่มุก จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พรฎ. ฉบับที่ 311
สรุป กิจการบุคคลธรรมดาหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ แต่อย่าลืมนำส่งสรรพากร
จากข้อมูลข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า ผู้ที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาในกลุ่มมาตรา 40(8) สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้บ้างกรณี เช่น จ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินที่เป็นพนักงานประจำ สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ แต่ถ้าจ่ายเป็นครั้งคราวให้กับอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
และตามกฎหมายกำหนดให้นำส่งภาษีที่หักไว้นั้นให้แก่กรมสรรพากรภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบฟอร์มที่เหมาะสมกับประเภทของรายได้และลักษณะของผู้รับเงิน เช่น แบบ ภ.ง.ด. 1 สำหรับเงินเดือนและค่าจ้าง แบบ ภ.ง.ด.3 ใช้สำหรับการจ่ายเงินให้บุคคลธรรมดา และแบบ ภ.ง.ด.53 ใช้สำหรับการจ่ายเงินให้คณะบุคคลหรือบริษัท
Cr. www.bangkokbiznews.com