"นักธุรกิจมือใหม่" วางแผนเงินทุนอย่างไรให้ไม่สะดุด

"นักธุรกิจมือใหม่" วางแผนเงินทุนอย่างไรให้ไม่สะดุด





               

ไม่อยากเจอกับภาวะเงินสะดุด ต้องวางแผนจัดการทางการเงินให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ลองใช้เทคนิคเหล่านี้มาช่วยวางแผนการเงินให้กับธุรกิจของคุณ 
สิ่งแรกที่ต้องคิดและวางแผนให้ดี สำหรับบรรดามือใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ นั่นคือ “เงินทุน” สำหรับการเริ่มต้นกิจการ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้ว จะมีอยู่ 3 แหล่งด้วยกัน คือ

 

แหล่งทุนที่ 1 “ใช้เงินตัวเอง”

เป็นแหล่งทุนเริ่มต้นทุนที่ความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์น้อย กังวลว่าธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จสูง การใช้เงินทุนของตัวเองถ้าไปต่อไม่ได้จริง ๆ อย่างน้อยคือเสมอตัวไม่ได้ติดลบ เพราะไม่ได้กู้ยืมใครมา หากใช้เงินตัวเองในการเริ่มต้นธุรกิจต้องวางแผนสะสมเงินทุนให้ได้สักก้อน อาจจะเป็นการเริ่มต้นจากเงินทุนไม่มาก ทำจากเล็ก ๆ ไปก่อนในช่วงแรก

 

แหล่งทุนที่ 2 “หาหุ้นส่วนเพิ่ม”

การหาทุนเพิ่มจากหุ้นส่วน เป็นหนึ่งทางเลือกในกรณีเงินทุนของตัวเองมีจำกัดหรือไม่เพียงพอ ซึ่งในการเลือกหุ้นส่วนนั้นอย่ามองเพียงแค่ว่าต้องการคนที่จะเอาเงินมาเติมในส่วนที่ขาด แต่ให้มองหาคนที่จะมาเติมความสามารถ หรือศักยภาพในส่วนที่ธุรกิจขาดมากกว่า

 

แหล่งทุนที่ 3 คือ “กู้ยืมจากสถาบันการเงิน”

เป็นทางเลือกที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่ เพราะด้วยประสบการณ์ที่น้อย ในมุมของสถาบันการเงินการจะเข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจจึงค่อนข้างยาก ทำให้ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งหันไปพึ่งพาการใช้บริการทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งจะได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า หากจะใช้สินเชื่อประเภทนี้อาจใช้เป็นตัวประกอบการหาเงินมาเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัวขึ้นจะดีต่อธุรกิจมากกว่า

 

ถ้ากู้เงินจากธนาคาร กู้แค่ไหนถึงไม่เป็นภาระหนักให้ธุรกิจ?

กรณีที่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ถ้าไม่อยากให้กลายเป็นภาระที่หนักจนเกินไปของธุรกิจ สัดส่วนของการชำระหนี้โดยหลักแล้วควรอยู่ระหว่าง 50-70% ของผลกำไรธุรกิจ เช่น 

หากเรามีกำไรจากธุรกิจเดือนละ 100 บาท ควรจ่ายหนี้อยู่ระหว่าง 50-70 บาท เพื่อให้ธุรกิจมีกำไรเหลือสะสม การทำธุรกิจแล้วไม่เหลือกำไรเลย เพราะต้องจ่ายหนี้หมด โอกาสที่ธุรกิจจะไปรอดได้ก็เป็นเรื่องยาก

 

มีเงินสำรองเท่าไร ถึงจะเพียงพอให้ธุรกิจเดินได้?

การทำธุรกิจจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียน หรือเงินทุนสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งถ้าจะให้แนะนำผู้ประกอบการ หากเป็นสูตรทางบัญชี ให้คิดตามหลักง่าย ๆ ด้วยสูตรนี้ คือ 

ลูกหนี้การค้า + สต็อกสินค้า - เจ้าหนี้การค้า = เงินทุนหมุนเวียน

ยกตัวอย่าง ลูกหนี้การค้า (500 บาท) + สต็อกสินค้า (200 บาท) - เจ้าหนี้การค้า (300 บาท) = เงินทุนหมุนเวียน (400 บาท)

 

แต่สำหรับมือใหม่ ๆ หลายคนอาจจะยังสับสนในเรื่องของลูกหนี้การค้า สต็อกสินค้า และเจ้าหนี้การค้า เพื่อให้ง่ายขึ้นสามารถเปลี่ยนมาใช้สูตรสำเร็จแบบนี้ คือ การคิดว่าจะต้องมีเงินสำรองกี่เท่าของยอดขาย โดยในภาวะปกติ หลายคนอาจบอกว่า ควรมีเงินสำรองสัก 2-3 เท่าของยอดขาย เช่น 

 

มียอดขายได้เดือนละ 100 บาท ควรมีเงินสำรองประมาณ 300 บาท แต่ในช่วงวิกฤต COVID-19 มองว่าผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องมีเงินสำรองถึง 6 เท่าของยอดขาย เพราะอยู่ในสถานการณ์ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนั่นเอง

 

ถึงจะเป็นมือใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะบริหารจัดการทางการเงินไม่เป็น ยิ่งรู้เทคนิคแบบนี้ด้วยแล้ว เชื่อได้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจของคุณในครั้งนี้ อย่างไรก็ไม่สะดุดแน่นอน

 466
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์