อายุน้อยหนี้เยอะ ไม่มีเงินออม

อายุน้อยหนี้เยอะ ไม่มีเงินออม





          หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง เป็นหนี้เร็ว ซึ่งหากต้องการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนทำได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เช่น การเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่าย อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนไทยอายุน้อยยังมียอดเงินฝากไม่มากนักเนื่องจากมีหนี้สินสูงจากการสร้างฐานะผ่านการลงทุนเพื่อสะสมสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ

          ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ของไทยว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน กลุ่มอายุ 30-40 ปี กว่าครึ่งมีหนี้ส่วนบุคคลและยังเป็นหนี้นาน รวมถึง 1 ใน 5 ของคนใกล้เกษียณยังมีหนี้มากกว่าแสนบาท ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้กระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นจาก 80% เมื่อปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83.8% ในไตรมาส 2 ปี 2563

          ด้าน นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันป๋วยอึ้งพากร ได้เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT Symposium 2020) ในหัวข้อ เหลียวหลัง แลหน้า อนาคตหนี้ครัวเรือนไทย ว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในหลายปีที่ผ่านมาและมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้นและมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อรายเป็น 1.28 แสนบาท ขณะที่ยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น คือ เป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดย 60% ของกลุ่มคนอายุ 29-30 ปี เป็นหนี้ และเป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 4 นอกจากนี้คนไทยยังเป็นหนี้นานแม้หลังเกษียณแล้วยังมีค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 7-8 หมื่นบาทต่อราย

          สำหรับสถานการณ์การออมของไทย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA กล่าวว่า ภาพรวมเงินฝากของไทยปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนฝากเงินในระบบ 80.82 ล้านราย โดยผู้ฝากที่มีเงินฝากในบัญชีสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่ง 50% ของผู้ฝากในภูมิภาคนี้มียอดเงินฝากรวมไม่เกิน 10,442 บาทต่อราย ขณะที่ผู้ฝากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเงินฝากน้อยที่สุด โดยครึ่งหนึ่งของผู้ฝากในภูมิภาคมียอดเงินฝากรวมไม่เกิน 1,628 บาทต่อราย

          ทั้งนี้ ผู้ฝากบุคคลธรรมดาสามารถแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวันเกษียณ

          วัยเริ่มทำงาน อายุ 23 – 35 ปี เป็นช่วงวัยที่มีรายได้เป็นของตัวเอง และเริ่มบริหารเงินเก็บผ่านการฝากเงินในสถาบันการเงิน โดยครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 3,300 บาทต่อราย (ปริมาณเงินฝากเฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ 65,000 บาท) ซึ่งส่วนใหญ่มีการเปิดบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี กับสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง

“ผู้ฝากในช่วงเริ่มต้นของชีวิตการทำงานมีความสามารถในการออมไม่สูง โดยหนึ่งในสาเหตุที่ผู้ฝากกลุ่มนี้มีหนี้สินสูง แต่มีเงินฝากน้อย คือการสร้างฐานะผ่านการลงทุนเพื่อสะสมสินทรัพย์ ได้แก่สังหาริมทรัพย์ เช่นรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งช่วงสามปีแรกของการทำงานนี้ ผู้ฝากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง หลังจากนั้น เมื่อผู้ฝากผ่อนชำระสังหาริมทรัพย์เสร็จ จึงลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่อ เช่นที่อยู่อาศัย”

          วัยทำงาน อายุ 36 – 59 ปี เป็นช่วงวัยที่มีรายได้สูงขึ้น และมีเป้าหมายในการออมเงินที่ชัดเจน เริ่มมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นเพิ่มเติมจากการฝากเงินกับสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มเงินสะสม โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนเกือบครึ่งหรือคิดเป็น 46% ของผู้ฝากทั้งหมด และมีเงินฝากรวมกันปริมาณสูงถึง 51% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 4,900 บาทต่อราย (ปริมาณเงินฝากเฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ 214,000 บาท)

“ผู้ฝากในวัยทำงานรับความเสี่ยงได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้นคำแนะนำการจัดสรรสินทรัพย์สำหรับผู้ฝากกลุ่มนี้ คือ การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี หรือกองทุนเลี้ยงชีพ ซึ่งช่วยเพิ่มเงินสะสมได้ นอกจากนี้ ผู้ฝากยังสามารถกระจายการลงทุนในตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดทองคำ อัญมณี หรือที่ดิน”

          วัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้มีบัญชีเงินฝากจำนวน 14% ของผู้ฝากทั้งหมด มีเงินฝากรวมกันคิดเป็น 38% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด โดยประมาณครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 7,400 บาทต่อราย (ปริมาณเงินฝากเฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ 537,000 บาท) ทั้งนี้ผู้ฝากกลุ่มนี้ มีเงินเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ

          อย่างไรก็ตามในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประชาชนมีการออมเงินมากขึ้น โดยในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของเงินฝากอยู่ที่ 6% ขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นถึง 8% และหากดูย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 เงินฝากโดยเฉลี่ยจะเติบโตประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในรายได้ในอนาคต

 


ที่มา : www.moneyandbanking.co.th

 798
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์