โมเดลธุรกิจ คืออะไร?

โมเดลธุรกิจ คืออะไร?

โมเดลธุรกิจ คืออะไร?



          ตามนิยามแล้วโมเดลธุรกิจเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางธุรกิจ โดยเป็นคุณค่าที่สามารถนำส่งและแบ่งปันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ โมเดลธุรกิจยังช่วยให้เห็นถึงกลยุทธ์ในการแข่งขัน การสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสังคมสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างจากที่ Hung et al. (2010) นำเสนอโมเดลธุรกิจเชิงคุณค่าสินค้าอินทรีย์จากระบบการทำงานออนไลน์ Organic e-farming System ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ Value chain, Value Shop, และ Value Network มีจุดมุ่งหมายเพื่อไปสู่การสร้างธุรกิจสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม

  • Value Chain มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการติดตามผลผลิตที่นำไปสู่ความเชื่อมั่นในคุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

  • Value Shop พบแนวโน้มการเติบโตของบริการขนส่งและกระจายสินค้าถึงบ้าน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จในช่องทางออนไลน์ลักษณะนี้
  • Value Network ให้ความสำคัญกับการแชร์ข้อมูลในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่ความสามารถในการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการมีข้อมูลแบบ Real Time จะยิ่งเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในการร่วมวางแผน พยากรณ์ความต้องการตลาด นำไปสู่ความสามารถในการจัดเตรียมสินค้า การรวบรวมและบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จึงมีความสำคัญ

          หลักการของการจัดการ Value Network ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ โครงสร้างของ Network อาทิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน กระบวนการทางธุรกิจ หมายถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อนำส่งคุณค่าสู่ผู้บริโภค และการบริหารจัดการเพื่อให้กระบวนการทางธุรกิจเชื่อมโยงถึงกันระหว่าง Network ต่างๆ

          ในการวัดผลโมเดลธุรกิจมีหลายมิติ ทางการเงิน เช่น ผลประกอบการ ความสามารถในการบริหารจัดการ อาทิ ต้นทุนผลิต ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ สินค้าคงคลังและต้นทุนรายจ่าย ความสามารถในการจัดส่งที่เชื่อมั่นได้และมีความยืดหยุ่นในกระบวนการ ทางการตลาดได้แก่ความพึงพอใจของลูกค้าและการได้รับความนิยม รวมถึงความสามารถในการขยายตลาดสู่พื้นที่วงกว้างผ่านเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งนำไปสู่การวัดผลโมเดลธุรกิจภายใต้กฎเกณฑ์เงื่อนไขที่แตกต่าง เช่นการค้าข้ามชาติ เป็นต้น

โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องแสดงความรับผิดชอบทั้งกับกระบวนการทำงานของตัวเองและกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ฝั่งลูกค้าผู้บริโภคก็ต้องแสดงความรับผิดชอบในการบริโภคเช่นกัน ที่สำคัญการจัดสรรประโยชน์ทางธุรกิจควรอยู่บนฐานการค้าที่เป็นธรรม โมเดลธุรกิจเพื่อไปสู่ความยั่งยืน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก  ได้แก่

  • Technological Model มุ่งเน้นที่การสร้างประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดขยะการสูญเสียและการปล่อยมลพิษ สร้าง Eco-efficiency จากขยะ พลังงานทดแทน หรือการนำกลับมาใช้ใหม่

  • Social Model โมเดลทางสังคมได้แก่การส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือจัดการใช้ทรัพยากรที่มุ่งเน้นประโยชน์คุณค่าร่วมมากกว่าการต้องครอบครองเป็นเจ้าของ เช่นโมเดลของ Sharing Economy รวมถึงการส่งเสริมคุณค่าใหม่ในสังคม เช่น ให้เกิดการใช้งานสินค้าระยะยาว ให้เกิดความพอเพียง

  • Organizational Model เป็นโมเดลที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และในอีกส่วนได้แก่การทำให้แนวทางแก้ไขปัญหาได้รับการขยายผลในวงกว้างสู่เครือข่ายการทำงานอื่นๆ

การพัฒนาโมเดลใหม่ทางธุรกิจนับว่ามีความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อไปสู่ความยั่งยืน ผลการศึกษาพบว่าโมเดลใหม่ทางธุรกิจนำไปสู่การเล็งเห็นถึงการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ และทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการ รวมถึงกลไกในการแข่งขันที่แตกต่างออกไป ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายใหม่ๆ เข้ามาโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างไปจากเดิม


ที่มา : www.bangkokbiznews.com

 822
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์