Checklists ความผิดปกติปิดงบการเงิน

Checklists ความผิดปกติปิดงบการเงิน

Checklists ความผิดปกติปิดงบการเงิน



การปิดงบการเงินนั้น หากปิดไม่เหมาะสม อาจมีตัวเลขบางอย่าง ที่แสดงถึงความผิดปกติของงบการเงินของกิจการเราได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้นักลงทุนที่มาอ่านงบ, ผู้สอบบัญชีที่ตรวจสอบงบฯ หรือ แม้แต่สรรพากรที่ได้ข้อมูลตอนยื่นงบไป อาจเคลือบแคลงใจ และเป็นเหตุต้องสงสัยได้

เรามาดูตัวอย่างง่ายๆ กันว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ มีอยู่ในงบการเงินของท่านหรือไม่

  1. เงินสดเยอะมาก

กิจการที่เงินสดเยอะมากๆ อาจมีเหตุต้องสงสัยว่า เงินสดนั้นมีอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะยุคสมัยนี้ ระบบการเงินพัฒนาไปไกลมาก การใช้เงินสด รับ-จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการค้าที่สูงๆ อาจมีข้อสงสัยว่ารายการเหล่านั้น เกิดจริงหรือไม่ ? แล้วถ้าเกิดจริง ทำไมต้องใช้เงินสด ?


เพราะข้อจำกัดของเงินสดในการตรวจสอบ นั่นคือ ตรวจสอบได้ยากมาก ว่าเงินนั้นมาจากใคร เป็นของใคร ดังนั้นแล้วกิจการใดที่มีเงินสดมากเกินควร (แต่ร้านสะดวกซื้อ อาจมีเงินสดมากได้ เพราะรูปแบบธุรกิจเค้าเป็นแบบนั้น) กิจการใดที่มีเงินสดมากๆ ในงบการเงิน หรือบันทึกบัญชี ผ่านเงินสดรับ-จ่าย อาจต้องหาคำอธิบายเตรียมๆ ไว้บ้างนะว่าทำไม

 

  1. งบการเงินไม่มีรายการอาคารและที่ดินที่ใช้ในการประกอบกิจการ หรือ ไม่มีรายการค่าเช่าในส่วนของค่าใช้จ่าย

อันนี้หลายๆ ท่านมักมองข้ามไป การที่งบการเงิน ไม่มีรายการสินทรัพย์ถาวร พวก อาคาร/ที่ดิน/ออฟฟิต แล้วกิจการเราใช้อะไรดำเนินงาน ? แต่ถ้ากิจการเหล่านี้ เช่าสถานที่อยู่ก็อาจเป็นเหตุผลได้ว่า เพราะการเช่า จึงไม่มีสินทรัพย์ถาวร ในงบการเงิน แต่บางงบการเงินนั้น ไม่มีรายการค่าเช่าอีก แบบนี้ยิ่งแปลกเพราะเหมือนกับว่ากิจการเหล่านี้ ไม่มีสินทรัพย์ดำเนินงานอะไรเลย


แบบนี้นักลงทุนที่มาอ่านงบ ก็อาจสงสัยได้ หรือ ถ้าในมุมสรรพากร ก็อาจสงสัยได้เช่นกันว่ากิจการมีซ่อนกิจการอื่นไว้หรือไม่ (อาจไปใช้อาคารสำนักงานของกิจการอื่นๆ ) อะไรแบบนี้

 

  1. รายการลูกหนี้กรรมการ หรือ เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ

อันนี้เบสิคสุดๆ ถามว่าจริงๆ แล้วกรรมการสามารถ กู้ยืมเงินบริษัทได้หรือไม่ ตอบว่าได้ ไม่มีกฎหมายข้อใดกำหนดว่าไม่ได้ แต่ถ้าจำนวนหนี้สูงมากเกินไปแปลว่าอะไร ?

  • กรรมการ เลือกที่จะดึงเงินออกจากบริษัทผ่านทางเงินกู้ยืม เพราะมันไม่มีภาระภาษีบุคคลธรรมดาต่อกรรมการ (ถ้ารับเป็นเงินเดือน สิ้นปีกรรมการต้องยื่นภาษี)
  • กรรมการ ขายสินค้า แต่เงินอยู่ที่กรรมการ บริษัทเลยบันทึกการขาย ผ่านบัญชีลูกหนี้กรรมการ
  • นักบัญชี ไม่รู้จะลงบัญชีอย่างไร ตบยอดตรงไหน ก็ยัดมันเข้าบัญชีลูกหนี้กรรมการ

และอีกหลายต่อหลายสาเหตุที่ทำให้มีบัญชีนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วลองนึกภาพตาม ถ้าเป็นการกู้ยืมเงินระหว่างกรรมการ และบริษัทจริง บัญชีลูกหนี้กรรมการ ควรจะเป็นเลขกลมๆ เพราะเราคงไม่กู้หรือคืนเงินกู้ยืม ด้วยยอด 120,515 บาท มีเศษๆ หรอก หรือ หากมองไวๆ แบบง่ายๆ บัญชีนี้ไม่ควรมียอดสูงเกินกว่า หนี้สินหมุนเวียน เช่น เจ้าหนี้การค้า/เงินกู้จากธนาคาร เพราะ ถ้าบริษัทมีเงินเหลือให้กรรมการกู้ยืมจริง เหตุไฉน จึงไม่เอาเงินนั้นมาจ่ายชำระหนี้สิน ถูกมั้ย

 

  1. สินค้าคงเหลือ ยอดสูงมากเกินควร

รายการสินค้าสิ้นงวดนั้น ต้องบอกว่าเป็นรายการที่ใครๆ (ผู้สอบบัญชี หรือ สรรพากร หรือ นักลงทุน) ต้องแวะมาดูเพราะสามารถบอกอะไรได้หลายต่อหลายอย่าง เช่น

  • เหลือเยอะมั้ย ถ้าเยอะ เยอะมากแค่ไหน เพราะหมายถึง เงินไปจมในสต็อกเกินไปรึป่าว
  • หรือที่เหลือมากๆ นั้น มีสินค้าที่ล้าสมัย เสื่อมสภาพ ขายไม่ออก
  • หากมียอดสูงกว่า ยอดขายใน 1 ปี อาจบ่งบอกว่ากิจการมีการขาย แต่ไม่มีการบันทึกบัญชีหรือไม่
  • สินค้าคงเหลือ มีแต่ยอดสูง แต่ไม่มีอยู่จริง
  • อื่นๆ

สินค้าคงเหลือ ค่อนข้างที่จะต้องดูเป็นพิเศษ หากกิจการใดมีระบบควบคุมที่ดี ก็คงต้องตรวจนับสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนสิ้นปี ว่ามีจริงๆ เท่าไหร่ มีเสื่อมสภาพบ้างหรือไม่ โดยอาจมีผู้สอบบัญชี ไปช่วยดูการตรวจนับด้วย เพื่อที่จะเสนอแนะหรือแนะนำระบบควบคุมให้ดียิ่งขึ้น

 

  1. มีรายการซื้อสินค้า เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่งบกำไร/ขาดทุน ไม่ปรากฏว่ามีรายการกำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
อันนี้คือ ยังไงก็แปลก เพราะหากมีรายการการค้าขายกับต่างประเทศแล้ว มักเป็นปกติที่ต้องมีรายการ กำไร หรือ ขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน


Cr. https://onesiri-acc.com
 24
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์