สัญญาค้ำประกันคืออะไร และมีภาระภาษีอะไรบ้าง

สัญญาค้ำประกันคืออะไร และมีภาระภาษีอะไรบ้าง



ความหมายและลักษณะของสัญญาค้ำประกัน

    สัญญาค้ำประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

ลักษณะของสัญญาค้ำประกัน
     1. ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สาม ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้และไม่ใช่ลูกหนี้ อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ สัญญาค้ำประกันคือการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล (บุคคลสิทธิ) มีผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้โดยบังคับจากทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปได้ แตกต่างจากสัญญาจำนองและสัญญาจำนำซึ่งเป็นการประกันด้วยทรัพย์ (ทรัพยสิทธิ) เจ้าหนี้จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์นั้น แม้ทรัพย์นั้นจะเปลี่ยนเจ้าของไปแล้วก็ตาม แต่จะไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองหรือผู้จำนำไม่ได้

    2. ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ หรือที่เรียกว่า หนี้ประธาน การจะมีสัญญาค้ำประกันได้จะต้องมีหนี้ประธาน โดยหนี้ประธานนั้นจะเกิดจากมูลหนี้ชนิดใดก็ได้ เช่น เกิดสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างแรงงาน หรือละเมิด แต่ถ้าไม่มีหนี้ประธาน แม้จะมีการทำสัญญากันไว้ ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด

    3. ต้องเป็นการผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ หากผู้ค้ำประกันไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ สัญญานั้นย่อมไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน นอกจากนี้ การที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ที่จะเป็นสัญญาค้ำประกันได้นั้น จะต้องเป็นการผูกพันตนเพื่อการชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ ถ้าเป็นการให้คำลอย ๆ ไม่ได้ระบุว่าจะชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ ก็ย่อมไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน

    4. สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

    5. หนี้ที่ค้ำประกันหรือหนี้ประธาน ต้องเป็นหนี้อันสมบูรณ์

    6. ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะแต่จะไม่มีผลถึงข้อตกลงอื่น ๆ ในสัญญาค้ำประกัน อย่างไรก็ดี หากนิติบุคคลเป็นผู้ค้ำประกัน นิติบุคคลผู้ค้ำประกันสามารถทำข้อตกลงโดยยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมได้

    7. ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันที่แตกต่างจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม (เรื่องความสมบูรณ์และเนื้อหาของสัญญาค้ำประกัน) มาตรา 686 (ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวผู้ค้ำประกันก่อนจึงจะฟ้องผู้ค้ำประกันได้) มาตรา 694 (ผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้) มาตรา 698 (ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ) มาตรา 699 (ผู้ค้ำประกันหนี้ในอนาคตมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อคราวอันเป็นอนาคต) ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
   1. ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเป็นไปตามสัญญาค้ำประกัน โดยผู้ค้ำประกันจะทำสัญญาจำกัดความรับผิดของตนไว้อย่างไรก็ได้
   2. ถ้าไม่จำกัดความรับผิดไว้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดรวมไปถึงดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วยโดยดอกเบี้ยที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดจะถือตามสัญญาที่ก่อหนี้ประธาน
   3. รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้จะต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้


ภาษีที่เกี่ยวข้อง

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 

กรณีเป็นผู้ค้ำประกัน

   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ โดยได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากลูกหนี้ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามสัญญาค้ำประกันย่อมเข้าลักษณะเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปเสียภาษี ในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ โดยใช้เกณฑ์สิทธิ

กรณีเป็นลูกหนี้

   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมตามสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้ค้ำประกัน ค่าธรรมเนียมสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร

2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีบริษัททำสัญญาค้ำประกันโดยคิดค่าตอบแทนการค้ำประกัน ไม่ว่าบริษัทฯ จะได้ประกอบกิจการในการรับค้ำประกันหนี้ให้แก่บุคคลอื่นในทางการค้าหรือไม่ การค้ำประกันดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการ โดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.3 ของรายรับ (รวมภาษีท้องถิ่น)
  เว้นแต่จะได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/3 ประกอบพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534

3. อากรแสตมป์

สัญญาค้ำประกันเป็นตราสารลักษณะ 17.  ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายประมวลรัษฎากร ต้องเสียอากรแสตมป์ ดังนี้

จำนวนเงิน        ค่าอากรแสตมป์
มิได้จำกัดจำนวนเงิน                10   บาท
ไม่เกิน 1,000 บาท                1    บาท
เกิน  1,000  แต่ไม่เกิน 10,000 บาท                5    บาท
10,000 บาทขึ้นไป                10   บาท


บทความโดย : https://www.magazine.dst.co.th
                  https://www.dharmniti.co.th/
 222
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์