เคล็ดลับยื่นเสียภาษีและวิธีการลดหย่อน สำหรับมือใหม่!!

เคล็ดลับยื่นเสียภาษีและวิธีการลดหย่อน สำหรับมือใหม่!!

เคล็ดลับยื่นเสียภาษีและวิธีการลดหย่อน สำหรับมือใหม่!!



“ภาษีเงินได้” คือหนึ่งในหน้าที่พื้นฐานสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้จากการรับค่าจ้างหรือเงินเดือนจากการทำงานประจำ โดย ในทุก ๆ ปีมนุษย์เงินเดือนทุกรายไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือ First Jobber ก็จำเป็นที่จะต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้เหมือนกันหมด ถึงแม้ว่าฐานเงินได้ทั้งปีจะยังไม่เข้าเกณฑ์ก็ตามซึ่งนับเป็นเรื่องสามัญอยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าเงินได้ที่ต้องเสียภาษีนั้นยังมีวิธีช่วยลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องอยู่ ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อาจไม่เคยรู้ว่าวิธีนี้สามารถช่วยให้ผู้ยื่นภาษีรับเงินคืนได้ในตามจำนวนที่ยื่นลดหย่อนไป แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่องนี้ต้องขออธิบายเรื่องเงินได้ที่ต้องเสียภาษีให้กับมือใหม่ได้เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่าภาษีเงินได้คืออะไร และทำไมต้องเสียภาษี?

ภาษีเงินได้คืออะไร ใครที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้?

“ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) คือภาษีที่ทางภาครัฐเรียกเก็บจากผู้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากการทำงานประจำ โดยจะมีการเรียกเก็บภาษีเงินได้ที่ต้องเสียเป็นรายปี โดยผู้มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ต้องแสดงเอกสารที่เรียกว่า “แบบชำระภาษี” เพื่อทำการนำจ่ายให้กับทางภาครัฐหรือกรมสรรพากรอย่างถูกต้องในช่วงเวลาที่กำหนดระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้นั้นเบื้องต้นต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ก่อนคือ “ผู้ที่เข้าเกณฑ์ยื่นภาษี” และ “ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษีเงินได้” โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ที่เข้าเกณฑ์ยื่นภาษี

ในกลุ่มแรกนี้สามารถแยกย่อยลงไปอีกระหว่างคนโสดและคนมีคู่

คนโสด

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

คนมีคู่

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท
  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

ผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้

กลุ่มถัดมาคือกลุ่มผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยเริ่มต้นจากผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี หรือผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,833 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดา เพราะเมื่อนำรายได้ทั้งปีมาหักลบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงสิทธิ์ลดหย่อนต่าง ๆ ก็จะทำให้เหลือเงินสุทธิไม่เกิน 150,000 บาท

ส่วนคนที่มีรายได้มากกว่า 150,000 บาทสามารถอิงจากอัตราการเสียภาษีเงินได้รายบุคคลที่ต้องเสียการจากกรมสรรพากรเพื่อเปรียบเทียบได้ในหัวข้อถัดไป

อัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลปีล่าสุด

ตารางเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาจากกรมสรรพสามิต เป็นชุดข้อมูลที่ได้มีการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้ที่ต้องเสียเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เงินได้สุทธิขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีจะเริ่มที่ 150,000 บาท คิดเป็น 5% ของเงินได้ทั้งหมด หรือประมาณ 7,500 บาท ส่วนในช่วงรายได้สุทธิที่มากขึ้นก็จะมีอัตราภาษีที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่ เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น อัตราภาษี ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น
0 – 150,000 150,000 5 ยกเว้น*
เกิน 150,000 – 300,000 150,000 5 7,500 7,500
เกิน 300,000 – 500,000 200,000 10 20,000 27,500
เกิน 500,000 – 750,000 250,000 15 37,500 65,000
เกิน 750,000 – 1,000,000 250,000 20 50,000 115,000
เกิน 1,000,000 – 2,000,000 1,000,000 25 250,000 365,000
เกิน 2,000,000 – 5,000,000 3,000,000 30 900,000 1,265,000
เกิน 5,000,000 บาท ขึ้นไป 35



สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถคำนวณได้ 2 ขึ้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

  1. คำนวณหาเงินได้สุทธิทั้งหมด
               เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนภาษี = เงินได้สุทธิ
  2. คำนวณหาภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจากเงินได้สุทธิ
                    เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย

First Jobber ต้องเสียภาษีหรือไม่?

สำหรับ First Jobber หรือกลุ่มพนักงานที่พึ่งทำงานเป็นปีแรก อาจสงสัยกันว่าตนเองจำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่สามารถฟันธงได้ว่าต้องเสียหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนเริ่มต้นของแต่ละคนเป็นหลัก แต่โดยส่วนมากหากมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 25,833 บาท ก็อาจไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียนั่นเอง แต่ทุกคนจำเป็นต้องยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาเหมือนกัน จากการอิงตามฐานเงินได้ของคนโสดที่เกิน 120,000 บาทต่อปี

เทคนิคยื่นภาษีด้วยวิธีลดหย่อนที่ถูกต้อง

มาถึงมุมของคนที่ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้กันบ้าง หลาย ๆ คนมักมองหาตัวช่วยหรือวิธีลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการลดหย่อนภาษีนั้นเป็นวิธีการที่สามารถนำไปหักกับเงินได้ หลักจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วก็จะช่วยให้เสียภาษีได้น้อย แต่จะได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่  อันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับวิธีลดหย่อนภาษีแต่ละประเภทโดยสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 กลุ่มดังนี้

กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 1-2 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และค่าลดหย่อนภาษีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
  • ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
  • ค่าอุปการะบิดา-มารดา (ของตัวเองและคู่สมรส) 30,000 บาท/คน สูงสุด 4 คน
  • ค่าอุปการะผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ 60,000 บาท

กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

  • ประกันสังคม ลดหย่อนตามจริง
  • ประกันชีวิตทั่วไป ลดหย่อนตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกับชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ลดหย่อนตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท
  • ประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามจริงไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท
  • ประกันชีวิตบำนาญ สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุน RMF สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท 
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนครูโรงเรียนเอกชน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ ลดหย่อนตามจริงไม่เกิน 13,200 บาท
  • กองทุน SSF สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ลดหย่อนตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

กลุ่มเงินบริจาค

  • เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • เงินบริจาคให้สถานพยาบาลของรัฐ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • เงินสนับสนุนการกีฬา 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนตามจริงที่บริจาคแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนตามจริงที่บริจาคแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

กลุ่มนี้จะนับเป็นกลุ่มพิเศษที่ต้องรอโครงการจากทางภาครัฐ โดยที่ผ่าน ๆ มาทางภาครัฐเคยออกโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อนำไปเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลธรรมดาได้ ส่วนโครงการของปีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่ ต้องรอการประกาศจากทางภาครัฐอีกที

สรุป

เรื่องภาษีเงินได้เป็นเรื่องทั่วไปที่ใกล้ตัวทุกคนที่สุด เพราะนับเป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องเสียภาษีเพื่อให้ภาครัฐได้นำเงินไปพัฒนาประเทศชาติหรือนำไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน แต่ถึงอย่างนั้นภาครัฐก็ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนด้วยสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจากภาระส่วนบุคคลที่ครอบคลุมตั้งแต่ภาระส่วนบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงการลงทุนต่าง ๆ สำหรับใครที่ได้ยื่นภาษีพร้อมชำระไปเรียบร้อยแล้วสามารถตรวจสอบภาษีเงินคืนได้จากการเช็กยอดเงินเข้าทางพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนหรืออยากตรวจสอบสถานะภาษีเงินคืนที่ลึกกว่านั้นสามารถเข้าได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ทันที

เครดิต : https://humanica.com/th/blog/how-to-tax-filing-and-refund/


 321
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์