ภาษี & คู่สมรส

ภาษี & คู่สมรส





         กล่าวถึงคู่สมรส ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ซึ่งได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย การยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การคำนวณค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนคิดคำนวณภาษีอย่างไร ประมวลรัษฎากรได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคู่สมรสไว้หลายมาตรา ทั้งกรณีของคู่สมรสที่มีเงินได้และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สรุปได้ ดังนี้

          คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงที่ไม่มีเงินได้ การคิดคำนวณเพื่อยื่นแบบเสียภาษีไม่ยุ่งยากเท่าใด มีเพียงค่าลดหย่อนเท่านั้น คู่สมรสที่มีเงินได้สามารถนำคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้มาหักค่าลดหย่อนได้ 3 หมื่น บาท ไม่ว่าคู่สมรสนั้นจะอยู่ครบตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปี หย่าระหว่างปี ตายระหว่างปี แต่ถ้าคู่สมรสที่มีเงินได้นั้นอยู่ในประเทศไทยไม่ครบ 180 วัน จะใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้เฉพาะคู่สมรสที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ถ้าคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้อยู่ต่างประเทศ ก็จะไม่สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้

          คู่สมรสที่มีเงินได้ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ประมวลรัษฎากรจะกำหนดเงื่อนไขแตกต่างจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ทั้งเรื่องของการหักค่าลดหย่อน ค่าใช้จ่ายของเงินที่หามาได้ การนำเงินได้ไปยื่นรวมคำนวณกับสามีที่มีเงินได้ การยื่นแบบเสียภาษี ดังนี้

          เงินได้ของภรรยา กฎหมายกำหนดให้เงินได้ของภรรยาต้อง นำไปรวมคำนวณกับสามีที่มีเงินได้ เว้นแต่เงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ภรรยาสามารถแยกยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ด้วยแบบ ภ.ง.ด. 91 แยกต่างหากจากสามีได้ แต่ถ้าเป็นเงินได้ประเภทอื่นๆ กฎหมายบังคับให้นำไปยื่นรวมคำนวณกับสามีที่มีเงินได้ ไม่สามารถนำมาแยกคำนวณภาษีได้

ค่าลดหย่อน คู่สมรสที่มีเงินได้ถือว่าเป็นผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิ หักค่าลดหย่อนตนเองได้ 3 หมื่นบาท สำหรับค่าลดหย่อนอื่นๆ ก็เป็นสิทธิเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้ทั่วไป

ค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมิน ตามปกติการหักค่าใช้จ่าย คู่สมรสที่มีเงินได้ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามปกติ ต่างฝ่ายต่างหักว่างั้นเถอะ แต่จะมีกรณีของภรรยาที่มีเงินได้ประเภทเงินเดือนค่าจ้าง และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ค่านายหน้า การรับทำงานให้ เป็นต้น

          การหักค่าใช้จ่ายของภรรยาจะต้องนำเงินเดือนค่าจ้างรวมกับค่านายหน้า แล้วหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 ของเงินได้พึงประเมิน รวมแล้วไม่เกิน 6 หมื่นบาท แต่กฎหมายได้กำหนดให้เงินได้ของภรรยาที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำไปยื่นรวมคำนวณกับสามีที่มีเงินได้ การหักค่าใช้จ่ายจะต้องหาสัดส่วนค่าใช้จ่ายของเงินเดือนค่าจ้างและค่านายหน้า เพื่อนำไปคำนวณในแบบแสดงรายการภาษี

          การยื่นแบบเสียภาษี ถ้าคู่สมรสมีเงินได้ทั้ง 2 ฝ่าย การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต่างฝ่ายต่างยื่นแบบเสียภาษีของตนเอง แต่การยื่นเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี (ภ.ง.ด. 90) เงินได้พึงประเมินของภรรยาจะต้องนำไปยื่นรวมคำนวณกับสามี พูดง่ายๆ ว่ายื่นแบบเสียภาษีในนามสามี โดยที่สามีสามารถนำภาษีเงินได้ครึ่งปีของภรรยาที่ชำระแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ แต่ถ้าสามีภรรยานั้นอยู่ไม่ครบตลอดปีภาษีนั้น การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 จะต้องยื่นในนามของภรรยา ในกรณีที่ภรรยาเป็นผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว โดยที่สามีไม่มีเงินได้พึงประเมิน การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือประจำปีภาษี ให้ยื่นเสียแบบเสียภาษีในนามของภรรยา

 


ที่มา : www.pattanakit.net

 954
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์