เรียนรู้ กลุ่ม GEN Z กำลังหลักสำคัญในอนาคต

เรียนรู้ กลุ่ม GEN Z กำลังหลักสำคัญในอนาคต





          สถานการณ์แรงงานในเมืองไทยแม้จะยังไม่สู้ดีนักจากเหตุการณ์โรคระบาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานกำลังมีกลุ่มแรงงานใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดแรง ซึ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่ม Gen Z โดยในปี 2563 กลุ่ม Gen Z เริ่มไหลเข้าสู่ตลาด หนึ่งในทักษะที่โดดเด่นของกลุ่ม Gen Z คือเรื่องของเทคโนโลยีและเชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้ากลุ่ม Gen Z จะคัดค้านหรือเถียงบางความเห็นที่พวกเขาเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ

          เพราะการทำงานจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความร่วมมือ และในแต่ละที่ทำงานอาจจะมีแรงงานหลาย Generation ดังนั้นผู้ประกอบการหรือนายจ้างจึงควรศึกษาและเข้าใจถึงพฤติกรรมต่างๆ ของกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ Gen Z เพื่อให้สามารถทำงานสอดประสานร่วมมือกันได้เป็นอย่างดีเพื่อให้องค์กรเติบโตไปอย่างยั่งยืน ซึ่งกลุ่ม Gen Z จะเป็นคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2538-2552 ซึ่งในปัจจุบัน (ปี 2564) จะมีอายุประมาณ 12–26 ปี หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรไทย หรือราว 19% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด

 

ความเชื่อและการศึกษาที่เปลี่ยนไป

          อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ทักษะที่โดดเด่นของกลุ่ม Gen Z คือเรื่องของเทคโนโลยี เพราะเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี สามารถเรียนรู้ได้เร็ว มองเห็นคุณค่าของตัวเองและมองทุกคนเท่าเทียมกัน (ไม่แบ่งแยก) รวมถึงไม่เชื่อในระบบอาวุโสปละไม่เชื่อว่าประสบการณ์ในอดีตจะใช่ได้ในยุคปัจจุบัน เชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับ รวมถึงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ดีกว่าคนใน Generation ก่อนๆ ส่งผลถึงมุมมองการทำงานของคนใน Gen Z ที่แตกต่างออกไป

          ขณะที่หลักสูตรการศึกษาในมหาวิทยาลัย 4 ปีตอบโจทย์การทำงานของคน Gen Z ลดลง แต่มีการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์และคอร์สความถนัดเฉพาะต่างๆ ระยะสั้นต่างจาก Generation อื่นๆ จึงทำให้เห็นการศึกษาของกลุ่ม Gen Z ลดลง หรือกลุ่ม Gen Z เรียนจบระดับมหาวิทยาลัยลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยในเรื่องของประชากรที่ลดลง แต่ทิศทางการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็ปรับลดลงจาก 10.45% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 9.16% ในปี 2563

          นั่นเป็นเพราะแนวคิดด้านการศึกษาของกลุ่ม Gen Z เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าการศึกษาในระดับมหาวอทยาลัยไม่ได้ตอบความต้องการเรื่องการทำงาน และการใช้เวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยค่อนข้างยาวนานเกินไป ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ซึ่งในสหรัฐฯ ก็เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้ โดยข้อมูลจาก National Student Clearinghouse Research Center ระบุว่าจำนวนนักศึกษาในสหรัฐฯ ที่ลงทะเบียนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยลดลงถึง 11% จากปี 2554-2563

          กลุ่ม Gen Z จึงนิยมเปิดกว้างทางสื่อการศึกษา เช่น คอร์สออนไลน์จากต่างประเทศ และ YouTube ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่มากกว่า นอกจากนี้สถานการณ์โรคระบาดทำให้การเรียน๋านระบออนไลน์ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำแนวโน้มการศึกษาออนไลน์ด้วยเช่นกัน

 

ผลตอบแทนอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงาน

          นอกจากเรื่องของพฤติกรรมและแนวคิดด้านการศึกษา กลุ่ม Gen Z ยังต้องการแรงดึงดูดใจในการทำงาน แน่นอนว่าผลตอบแทนเป็นแรงดึงดูดที่ดี แต่ในกลุ่ม Gen Z นอกจากผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังต้องการแรงดึงดูดจากสิ่งรอบตัวอีกด้วย นั่นเพราะกลุ่ม Gen Z ไม่รู้สึกยึดติดกับองค์กรมากเท่ากับคน Gen อื่นๆ ผลตอบแทนจึงไม่สามารถดึงดูดใจได้ แต่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สังคมที่ทำงาน เวลาเข้า-ออกงาน โดยต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต และ Work Life Balance ที่เพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่ม Gen Z มีแนวคิดที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการทำธุรกิจ Startup มากขึ้น และเพราะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีจึงส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เช่น Youtuber, Vlogger หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ อย่าง e-Sports, วิศวกรด้าน Cybersecurity เป็นต้นจะเห็นได้ว่าคนใน Gen Z มีโอกาสและทางเลือกในอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น Gen Z จึงมีความอดทนลดลงและมีการเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันสั้น

          ข้อมูลจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบุว่า ปกติอัตราการลาออกจากงานของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10% แต่เมื่อ Gen Z เข้าสู่วัยทำงานอัตราการลาออกจากงานได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12%-15% ทั้งนี้คน Gen Z เป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ได้เร็วและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับองค์กร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรจะต้องเรียนรู้วิธีที่จะรักษาบุคลากรเหล่านี้และสร้างสังคมในที่ทำงานแม้จะมีความแตกต่างในด้าน Generation แต่สามารถอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนางานให้กับองค์กรได้

 

ศึกษาเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่ม Gen Z

          อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า Gen Z มีอัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง ทั้งนี้ภาคการศึกษาจึงต้องออกแบบหลักสูตรและปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์แก่ตลาดแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่จะมีบาบาทสำคัญอย่างมากในตลาดแรงงานจากนี้ไป ทั้งการมีคอร์สเรียนระยะสั้นเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การฝึกให้นักศึกษาได้เห็นประสบการณ์จริงหรือการสร้างทักษะความเป็นผู้นำและทักษะที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้เหมาะแก่การเข้าสู่ตลาดแรงงานก็เป็นเรื่องสำคัญ

          ขณะที่องค์กรต่างๆ ควรเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ระยะเวลาการทำงาน ปัจจุบันองค์กรบางแห่งได้ปรับเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ สถานที่การทำงานที่มีลักษณะเป็น Co-Working Space ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์กรหลายแห่งเริ่มปรับตัวมากขึ้นหลังเกิดสถานการณ์โรคระบาด นอกจากนี้ต้องการจัดการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรที่มีความแตกต่างกันทางด้านความคิด เช่น ให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ข้อดีและสนับสนุนกันในเรื่องนั้นๆ ไม่นำอายุหรือความอาวุโสมาเป็นใหญ่ในการตัดสินปัญหาต่างๆ เป็นต้น

          นอกเหนือจากเรื่องของการศึกษาและการทำงานในองค์กร ในด้านของแบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดกับกลุ่ม Gen Z จำเป็นที่จะต้องศึกษาและปรับตัวตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนกลุ่ม Gen Z อย่างการใช้สื่อออนไลน์ที่ต้องรู้ว่า Platform ไหนที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ เช่น ผลสำรวจระบุว่าคน Gen Z เริ่มใช้ Facebook ลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคน Gen ใดก็ตามการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ และทุกคนควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออยู่เสมอ


 

ที่มา : www.marketingoops.com

 679
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์