ส่วนลดเงินสด

ส่วนลดเงินสด





          การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ประกอบการมักจะมีกลยุทธ์หรือวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการส่งเสริมการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ การเจาะตลาดสินค้า หรือการให้บริการเป็นเรื่องที่หินเอามากๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะใช้วิธี ลด แลก แจก แถม ให้ทดลองใช้ การให้ส่วนลดเงินสดแก่ลูกค้า จับสลากชิงรางวัล และวิธีอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดและใช้กันมากทุกยุคทุกสมัย ก็คือการลดราคาสินค้าหรือค่าบริการ หรือการให้ส่วนลดเงินสดแก่ลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ก็ทำให้หัวใจลูกค้าเต้นระส่ำได้ตลอด ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้ประกอบการแค่ลดกำไรลงมาแค่นั้นเอง ใครที่อดใจไม่ไหวต้องได้ควักเงินออกจากกระเป๋าหรือยอมเป็นหนี้แน่นอน

          การให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือซื้อบริการ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะให้ส่วนลดทันทีที่ซื้อขายสินค้าหรือใช้บริการ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารีบซื้อสินค้าหรือใช้บริการ แต่ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนหนาสายป่านยาว นอกจากจะให้ส่วนลดขณะนั้นแล้ว อาจจะให้ส่วนลดเงินสดหลังการขายแก่ลูกค้าอีก หากลูกค้าชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการก่อนกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

 

          ตัวอย่าง บริษัท A ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อราคา 5 แสนบาท ให้แก่ลูกค้า โดยกำหนดเวลาให้ชำระเงินภายใน 60 วัน แต่ถ้าหากลูกค้าชำระค่าสินค้าภายใน 30 วัน นับแต่ลูกค้าซื้อสินค้า บริษัทจะให้ส่วนลดเงินสด 3% ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 1.5 หมื่นบาท

          จากตัวอย่างการให้ส่วนลดเงินสดที่เกิดขึ้นภายหลังจากการขายสินค้า บริษัท A จะต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาใด และจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากส่วนลด 3% ที่ให้ลูกค้าหรือไม่ ส่วนลดเงินสดที่ให้แก่ลูกค้า สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่

          บริษัท A จะต้องออกใบกำกับภาษีโดยใช้ราคาสินค้า 5 แสนบาท มาคิดคำนวณเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7% จากลูกค้าเป็นจำนวนภาษี 3.5 หมื่นบาท ไม่ใช่นำราคา 4.85 แสนบาท ที่ได้หักส่วนลด เงินสดมาคิดคำนวณภาษี ทั้งนี้ บริษัท A จะต้องระบุเงื่อนไขการให้ส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน และบริษัท A ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายส่วนลดเงินสดที่ให้แก่ลูกค้า สำหรับส่วนลดเงินสด 3% ที่ให้แก่ลูกค้า บริษัทยังสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีกด้วย

          ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้าที่ได้รับส่วนลดเงินสด 3% จากการชำระเงินค่าสินค้าภายใน 30 วัน จะต้องชำระค่าสินค้าเป็นจำนวน 4.85 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่ได้หักส่วนลดเงินสดจำนวน 1.5 หมื่นบาทออกแล้ว และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3.5 หมื่นบาท รวมเงินที่จ่ายทั้งสิ้น 5.2 แสนบาท สรุปง่ายๆ ว่าลูกค้าจ่ายเงินค่าสินค้าลดลง แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงจ่ายจากภาษีที่คิดคำนวณจากราคาเต็มของสินค้า

          ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรต้องระมัดระวังเรื่องส่วนลดที่ให้ทันทีเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เพราะการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้านั้น จะใช้ราคาที่ได้หักส่วนลดออกแล้วมาเป็นมูลค่าฐานภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะแตกต่างจากการให้ส่วนลดเงินสดที่ใช้ราคาเต็มก่อนหักส่วนลดเงินสด

สำหรับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายสินค้าที่ผู้ประกอบการให้แก่ผู้แทนจำหน่ายซึ่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%




ที่มา : www.pattanakit.net
 1186
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์