ภาษีเงินรางวัลส่งเสริมการขาย

ภาษีเงินรางวัลส่งเสริมการขาย





 

          กรณี บริษัทฯ ได้รับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ หรือรวมเรียกว่าเงินรางวัล เนื่องจากการส่งเสริมการขายจากบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า ซึ่งโดยทั่วไปรายการดังกล่าวมิใช่ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (8)(9)(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ใน บังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ทว่าบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไปแล้ว บริษัทฯ จะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มด้วยหรือไม่ อย่างไร และบริษัทฯ สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ได้นำส่งไว้แล้วคืนได้หรือไม่ 
   
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/5400 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ดังนี้
    
          กรณีบริษัทฯ ได้รับรายได้ อาทิ รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายจากบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า อาทิ เงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันที่ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายให้แก่ ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายที่ซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขาย เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า รางวัลส่วนลดยอดขายตามเป้า เงินช่วยเหลือค่าโฆษณา เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายอื่น เป็นต้น ซึ่งรายได้ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ย่อมไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี สำหรับการรับเงินดังกล่าว ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
    
          ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว บริษัทฯ ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษี ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบริษัทที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าว ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
    
          อย่างไรก็ตาม ทางแก้ไขที่กระทำได้ประการหนึ่ง คือ ให้บริษัทฯเรียกคืนใบกำกับภาษีจาก บริษัทผู้ให้รางวัลส่งเสริมการขาย แล้วนำมายกเลิก ซึ่งจะเป็นผลให้บริษัทฯ มียอดภาษีขายแจ้งเกินไปในเดือนภาษีที่ได้ออกใบกำกับภาษี ย่อมเป็นผลให้บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนสำหรับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระไว้เกินนั้น ภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการสำหรับภาษีเดือนนั้น ตามมาตรา 84/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

 

ที่มา : www.pattanakit.net

 1829
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์