ขอเตือน!!รอบระยะเวลาบัญชีก็สำคัญนะ

ขอเตือน!!รอบระยะเวลาบัญชีก็สำคัญนะ





 

           เป็นกรอบเวลาที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องรู้จักและระมัดระวังในการนำรายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำรายได้หรือรายจ่ายมาลงผิดรอบหรือข้ามรอบบัญชีเป็นผลให้การคำนวณกำไรสุทธิผิดพลาดคลาดเคลื่อนและอาจทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มเนื่องจากเสียภาษีไม่ครบถ้วนได้

           โดยปกติกฎหมายกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีไว้ 12 เดือน ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร การนับ 12 เดือน ต้องนับเต็ม 12 เดือน เช่น วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 – 14 กุมภาพันธ์ 2553 หรือ 1 มีนาคม 2553 – 28 กุมภาพันธ์ 2554 แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายก็กำหนดให้ในบางกรณีต่อไปนี้ ที่รอบระยะเวลาบัญชีไม่ครบ 12 เดือน หรืออาจจะมากกว่า 12 เดือน ก็ได้

 

          (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่ จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้ (มาตรา 65 (ก))
ตัวอย่าง  บริษัท ก. จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15  มิถุนายน 2553 รอบระยะเวลาบัญชีแรกอาจเลือกตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ก็ได้ ซึ่งมีกำหนดเวลาไม่ถึง 12 เดือน หรือจะเลือกไปปิดในวันที่ 14 มิถุนายน 2554 เพื่อให้ครบระยะเวลา 12 เดือนก็ได้

          อย่างไรก็ดีกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีแรกจะกำหนดเวลาเกินกว่ารอบระยะเวลาบัญชีปกติ (12) เดือนไม่ได้ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ถ้าบริษัทฯ กำหนดรอบระยะเวลาบัญชีแรกไม่ถึง 12 เดือน บริษัทฯ ก็ไม่ได้ถูกบังคับให้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล งวด 6 เดือนแรก (ภ.ง.ด.51) แต่อย่างใด ตามมาตรา 67 ตรี แต่ถ้าบริษัทฯ ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ก็มีผลเท่ากับว่ายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51 )โดยไม่มีหน้าที่ต้องยื่น หากประมาณการกำไรสุทธิในขณะยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ขาดเกินไปร้อยละ 25 ก็ไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด

          (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (มาตรา 65 (ข))

          บริษัทฯ ที่คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามรอบระยะเวลาบัญชีปกติแล้วต่อมาหากประสงค์จะขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก็สามารถกระทำได้โดยยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากร เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรอนุญาตก็เปลี่ยนได้ ถ้าอธิบดีกรมสรรพากรอนุญาตให้เปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ จะต้องถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีทีอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้เปลี่ยนได้

          ตัวอย่าง บริษัท ข. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ต่อมาประสงค์จะขอเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีเป็นวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคม บริษัท ข.จำกัด อาจยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มจาก 1 เมษายน ถึง วันที่ 31 ธันวาคม ในปีเดียวกันก็ได้ รอบระยะเวลาบัญชีในปีที่ขอเปลี่ยนแปลงจะเหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น 
 
ทั้งนี้การขอเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีนี้ไม่ว่ากรณีใด ๆ รอบระยะเวลาบัญชีจะเกินกว่า 12 เดือนไม่ได้

          (3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกิจการหรือควบเข้ากัน

          บริษัทฯ ที่เลิกกิจการหรือควบเข้ากัน รอบระยะเวลาบัญชีปีที่เลิกกิจการอาจไม่ถึง 12 เดือนก็ได้ และตามประมวลรัษฎากรให้ถือวันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับจดทะเบียนเลิกหรือควบเข้ากันเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  (มาตรา 72 วรรคสอง และมาตรา 73)

          ตัวอย่าง บริษัท ค. จำกัดมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่ม 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม บริษัทฯ เลิกกิจการในปี 2553 และวันที่ 31 ตุลาคม 2553 เป็นวันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับจดทะเบียนเลิกกิจการ วันที่ตามกฎหมายถือเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีที่เลิก ฉะนั้นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่เลิกกิจการ จึงมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2553 (10 เดือน) เท่านั้นไม่ถึง 12 เดือน

          มีข้อสังเกตว่า ในระหว่างชำระบัญชี บริษัทฯ ที่เลิกกิจการยังไม่สิ้นสภาพเป็นบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ 51 พร้อมงบการเงินต่อไปจนกว่าเสร็จสิ้นการชำระบัญชี โดยมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

          (4) การขยายรอบระยะเวลาบัญชี

          กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกิจการโดยชำระบัญชี หากผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท รับจดทะเบียนเลิก ถ้าได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกก็ได้ (มาตรา 72 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร)

การที่กฎหมายกำหนดให้มีการขยายรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวออกไปได้ รอบระยะเวลาบัญชีที่ขยายนี้อาจจะยาวกว่า 12 เดือนก็ได้ ซึ่งเป็นเพียงกรณีเดียวที่รอบระยะเวลาบัญชีอาจจะมากกว่า 12 เดือน

          นอกจากรอบระยะเวลาบัญชีจะมีความเกี่ยวพันกับภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยตรงแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้นำรอบระยะเวลาบัญชีเป็นเกณฑ์ในการวัดรายได้ของผู้ประกอบการว่าอยู่ในเกณฑ์เป็นผู้ประกอบการายย่อยที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดไว้ว่า มูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม (ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อไป คำว่า “ปี” ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ให้นับตามรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่ในกรณีที่เริ่มประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการถึงวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

          เห็นด้วยหรือไม่ว่า เรื่องของรอบระยะเวลาบัญชี ก็มีความหมายนะ...อย่ามองข้ามเชียว

   

 ที่มา : www.pattanakit.net

 5440
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์