ปัญหาคณะบุคคล

ปัญหาคณะบุคคล





          ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ประชาชนทั่วไปอาจจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของหน่วยภาษีคณะบุคคลไม่มากก็น้อย ซึ่งแน่นอนว่า การจัดการกับช่องโหว่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีมาโดยตลอด อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลธรรมดาผู้จัดตั้งคณะบุคคลหรือกำลังจะจัดตั้งคณะบุคคล ดังนั้นความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้เสียภาษีจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในฐานะหน้าที่ของพลเมืองที่ดี

 

          "คณะบุคคล" คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ ที่จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น คำว่า คณะบุคคล เมื่อพิจารณาในทางกฎหมายแล้ว ไม่ปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ปรากฎอยู่เฉพาะในประมวลรัษฎากรซึ่งได้กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะ บุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เป็นหน่วยภาษีประเภทหนึ่ง โดยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเกิดจากกลไกของกฎหมายเทคนิคในระบบกฎหมายภาษีอากรที่มุ่งประสงค์จะแก้ไขปัญหา ในขณะนั้น จากเดิมที่หน่วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเฉพาะบุคคลธรรมดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ได้มีแก้ไขเพิ่มเติมหน่วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้รวมถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ด้วยเจตจำนงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่แบ่งปันผลกำไรของหน่วยธุรกิจ หรือห้างหุ้นส่วนสามัญกลับไปยังหน่วยภาษีสุดท้ายหรือบุคคลธรรมดา และป้องกันปัญหาการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ซ้อนกันหรือภาษีซ้อนเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economics Double Taxation) ไปพร้อมกัน

          จากประวัติศาสตร์ที่กล่าวมา ทำให้คณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีประเภทหนึ่งในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งแต่ละหน่วยภาษีหรือแต่ละคณะบุคคลสามารถเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าตามตารางท้ายประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อนของบุคคลได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท

          ซึ่งต่อมาการจัดตั้งคณะบุคคลเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุที่การจัดตั้งนั้นมีความง่ายและสะดวกโดยปราศจากการจดทะเบียน นอกจากการจดทะเบียนทางภาษี และมีผลทำให้เกิดหน่วยภาษีแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา ซึ่งทำให้ผู้มีเงินได้จำนวนหนึ่งใช้เป็นช่องทางในการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยรวมให้ลดลงผ่านการจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อกระจายฐานเงินได้ให้เสียภาษีเป็นจำนวนหลายหน่วยภาษีซึ่งได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงจากการแตกหน่วยภาษี และสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่า ลดหย่อนได้ใหม่อีกครั้

          ทั้งนี้ การวางแผนภาษีโดยการจัดตั้งคณะบุคคลเป็นช่องโหว่ของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาโดยตลอด จนเสมือนหนึ่งเป็นที่เข้าใจกันอย่างไม่ถูกต้องว่า การจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อกระจายฐานภาษีนั้นเป็นการวางแผนภาษีสิ่งที่ถูกต้อง และทำได้ในทุกกรณีจากการตรวจสอบก่อนที่กรมสรรพากร จะมีมาตรการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีแจ้งยกเลิกคณะบุคคลหรือคัดกรองคณะบุคคลนั้น พบว่าในปี พ.ศ. 2552 มีการจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคลกว่าสามหมื่นกว่าคณะบุคคล ที่น่าตกใจไปกว่านั้นพบว่า มีการแสวงประโยชน์ผ่านการจัดตั้งคณะบุคคลโดยปราศจากการเข้าหุ้นกัน ปราศจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และปราศจากการร่วมกันทำกิจการกันจริง

   ตัวอย่างเช่น

  (1) รายได้จากวิชาชีพซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง กลับมีการจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อรองรับรายได้ดังกล่าว โดยที่บุคคล ผู้ร่วมเป็นคณะบุคคลนั้นไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือไม่มีบทบาทหรือความเท่าเทียมกันในรายได้ที่เกิดแก่คณะบุคคล

  (2) การจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อผ่องถ่ายกำไรหรือกำหนดราคาโอนจากนิติบุคคลที่มีกำไรสุทธิสูง ผ่านไปคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อบรรเทาภาระภาษีโดยรวมทั้งหมด

  (3) การจัดตั้งคณะบุคคลผ่านบุคคลธรรมดาในรูปแบบของการจับคู่ความน่าจะเป็นในคู่ที่แตกต่างกัน ทำให้บุคคลธรรมดาเพียงไม่กี่ราย ก็สามารถสร้างคณะบุคคลได้นับร้อยคณะบุคคลได้ เป็นอาทิ ตัวอย่างข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบของการเลือกการจัดตั้งคณะบุคคลโดยการจัดตั้งหน่วยภาษีใหม่โดยปราศจากสาระสำคัญทางเศรษฐกิจร่วมกัน ทำให้ผู้เสียภาษีที่ใช้ช่องว่างดังกล่าวสามารถเสียภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และขัดกับหลักการสำคัญทางภาษีประการสำคัญ นั่นคือ หลักความสามารถในการเสียภาษีของผู้เสียภาษี (Ability-to-Pay Principle) หรือหลักความเป็นธรรมในแนวดิ่ง (Vertical Equity) ที่จะเน้นถึงความสามารถในการรับภาระภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและการจัดสรรเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากภาคเอกชนสู่รัฐอย่างเหมาะสม

 

          ปัญหาการจัดตั้งคณะบุคคลตามกรณี ข้างต้น ในบางมุมมองแม้ประชาชนบางส่วนอาจมองว่า ไม่มีผลกระทบต่อตน แต่หากมองในภาพรวมผ่านระบบการคลังสาธารณะ เป็นที่ประจักษ์ว่า ผลเสียหายดังกล่าวย่อมเกิดแก่รัฐและประชาชนโดยตรง การสร้างความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีเป็นสิ่งสำคัญในการอำนวยรายได้เข้าสู่รัฐ แม้บางครั้งการจัดเก็บภาษีจะถูกมองในภาพลักษณ์เชิงลบ แต่ไม่อาจปฎิเสธความจริงของความต้องการใช้รายจ่ายสาธารณะเพื่อพัฒนาประเทศ หากรายจ่ายสาธารณะมีมากกว่ารายได้สาธารณะ นั่นย่อมหมายถึง หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เป็นหนี้สาธารณะของประชาชนทุกคน ซึ่งอาจเป็นภาระต่อประเทศในอนาคต หรือเป็นภาระต่อลูกหลานตามทฤษฎีการคลังสาธารณะแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีตามความสามารถในการเสียภาษีของบุคคลอย่างเหมาะสม ทำให้ไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันย่อมทำให้เกิดความสมัครใจ ในการเสียภาษีมากขึ้น

           เหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจทางภาษี มีความจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะ โดยผ่านมาตรการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีแจ้งยกเลิกคณะบุคคลหรือแจ้งข้อมูลผู้เสียภาษีประเภทคณะบุคคลเพื่อคัดกรองคณะบุคคลด้วยความสมัครใจซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนคณะบุคคลของกรมสรรพากรบ่งชี้ว่า จำนวนของคณะบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมสรรพากรลดลงไปกว่าหนึ่งหมื่นราย แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการมาตรการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีแจ้งยกเลิกคณะบุคคลหรือคัดกรองคณะบุคคลนั้น ส่งผลให้บุคคลผู้มีความประสงค์จะยกเลิกคณะบุคคลอยู่แล้ว ได้มีโอกาสได้ยกเลิกคณะบุคคล หรืออาจส่งผลต่อบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่อาจใช้ประโยชน์จากการจัดตั้งคณะบุคคลได้อีกต่อไป ซึ่งย่อมจะมีเสียงคัดค้านเป็นธรรมดา แต่มาตรการของกรมสรรพากรนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อคณะบุคคล ที่จัดตั้งโดยสุจริต ในทางตรงกันข้ามกลับส่งเสริมให้ระบบภาษีเงินได้เกิดความเป็นธรรมขึ้น ผู้เสียภาษีรู้สึกสมัครใจในการเสียภาษีมากขึ้น และอำนวยรายได้เข้าสู่รัฐมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมซึ่งประชาชนและรัฐควร ได้รับนั่นเอง

 


ที่มา : www.pattanakit.net

 5642
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์