สรุป ทิศทางของผู้ประกอบการก่อนเริ่มใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สรุป ทิศทางของผู้ประกอบการก่อนเริ่มใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล





          พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
มีผลบังคับใช้ทั้งกับ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ล้วนจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งนั้น ซึ่งบทลงโทษของพ.ร.บ.ฉบับนี้สูงถึง 5 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น จึงขออัพเดตทิศทางของผู้ประกอบการที่มีต่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ดังต่อไปนี้

1.  มีเวลาเตรียมตัวเพิ่มขึ้น

          เนื่องจากความไม่พร้อมขององค์กรหลาย ๆ ส่วนทำให้มีประกาศ “ พระราชกฤษฎีกา กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ” ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ส่งผลให้พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้กับกิจการตามที่ พ.ร.ฎ. กำหนด ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564  จึงมีเวลาให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เตรียมตัว และตรวจสอบความเรียบร้อยมากขึ้น

2. จัดมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

          แม้ว่าจะมีประกาศยกเว้นให้บางหน่วยงานยังไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่หน่วยงานต่าง ๆ ยังจำเป็นต้องมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม ตาม “ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 ” เช่น จัดให้มีมาตรการป้องกันด้านการบริหารจัดการ ด้านเทคนิค และด้านกายภาพ แจ้งมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่บุคคลากร พนักงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ ฯลฯ

3. สร้างความตระหนัก

          กฎหมายระบุให้กรรมการอาจมีส่วนร่วมในความรับผิดด้วย ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล หากเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของนิติบุคคล ที่ส่งผลให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย (มาตรา 81 พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562) ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ควรเริ่มปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเพราะนอกจากจะโดนบทลงโทษที่แรงแล้ว ยังสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อองค์กรธุรกิจอีกด้วย

4. เริ่มเตรียมความพร้อมและตรวจสอบความถูกต้อง

          แม้จะมี พ.ร.ฎ. ยกเว้นบางกิจการยังไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้แต่ผู้ประกอบการไหนที่ยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม ควรเริ่มมีการวางระบบที่เหมาะสมถูกต้อง วางแผนแนวทางการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ควรประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น อบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคคลากรภายในองค์กร และสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลอยู่เสมอ


          การไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากจะได้รับโทษตามที่กฎหมายระบุแล้ว ธุรกิจยังสูญเสียความน่าเชื่อถือและสูญเสียโอกาสทางการค้าอย่างมากมาย และถึงแม้ธุรกิจใดจะมีการเตรียมการแล้วก็ควรต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ก่อนกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

      

ที่มา : www.dharmniti.co.th

 520
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์