ลงทุนภาษีกับ SSF และ RMF

ลงทุนภาษีกับ SSF และ RMF






          ทำความเข้าใจ SSF และ RMF ก่อนจะลงทุนเพื่อหวังสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการออมในระยะยาว กองทุนทั้งสองแบบแตกต่างกันอย่างไรบ้าง? มีลักษณะพิเศษอะไรบ้าง?

          เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี นักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี และออมเงินระยะยาวเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอายุการทำงาน คงไม่พลาดที่จะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund; SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund; RMF) ซึ่งมีลักษณะดังนี้

          การจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเมื่อลงทุนในกองทุนประเภท SSF หรือ RMF นั้น นักลงทุนต้องรู้ก่อนว่าได้มีการลงทุนในกลุ่มการออมเพื่อเกษียณอายุอยู่หรือไม่ ซึ่งกลุ่มการออมเพื่อการเกษียณอายุ มี 7 ประเภท ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, เบี้ยประกันภัยสำหรับประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

          โดยวงเงินที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนรวมกันจากการลงทุนในกลุ่มการออมเพื่อเกษียณอายุทั้ง 7 ประเภทต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี เช่น นักลงทุนมีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเบี้ยประกันภัยสำหรับประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วรวมกัน 300,000 บาท จะสามารถลงทุนใน SSF หรือ RMF รวมกันหรืออย่างหนึ่งอย่างใดไม่เกิน 200,000 บาท เป็นต้น

          กองทุน SSF และ RMF เหมาะกับบุคคลทั่วไปและมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน หน่วยของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น ทำให้นักลงทุนสามารถจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สภาวะตลาด และตามระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้

          แม้ว่าการลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF จะเป็นการลงทุนระยะยาว แต่มีความยืดหยุ่นพอสมควร เพราะนักลงทุนสามารถเปลี่ยน โอน ย้ายการลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF ที่ได้ลงทุนแล้วไประหว่างกองทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เดียวกัน เช่น โอนย้ายการลงทุน SSF หุ้นสามัญ ไปยัง SSF ตราสารหนี้ เป็นต้น แต่ไม่สามารถโอนย้ายการลงทุนข้ามจาก SSF มาลงทุนใน RMF

          การลงทุนในกองทุนเพื่อการประหยัดภาษีไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทใด ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดจากคู่มือการลงทุน หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน เพราะมีรายละเอียด กฎเกณฑ์ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้องตาม และสร้างวินัยในการออมเงิน เพื่อมีเงินใช้หลังเกษียณอย่างมีความสุข

 

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

 566
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์