การจ่ายเงินโบนัส

การจ่ายเงินโบนัส





          บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด นิติบุคคลทั้งหลาย โปรดระวังเรื่อง การจ่ายเงินโบนัส ส่วนใหญ่ธุรกิจทั้งหลาย เวลาปีไหนที่ธุรกิจมีกำไรดี เรามักจะจ่ายโบนัสออกมา ปีไหนขาดทุนหรือมีกำไรน้อย เราก็ไม่จ่าย สรรพากรจะมองว่า โบนัสที่จ่าย เราได้สร้างค่าใช้จ่ายก่อนภาษี และได้เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายที่หักออกจากผลกำไร ทำให้เงินโบนัสดังกล่าวจะถูกตีกลับ ไม่ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องบวกกลับ ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมบวกกับเงินเพิ่ม

    วิธีการจ่ายโบนัสที่ถูกต้องทำอย่างไร

    ตอบ คือต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ วางหลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนและการจ่ายโบนัส  ที่ชัดเจน และถ้าจะให้มีหลักฐานแน่นหนาที่สุด คือ เอามติที่ประชุมกรรมการเรื่องการจ่ายผลตอบแทน และโบนัส เข้าขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกที

    ภาษีโบนัสพนักงานและคณะกรรมการ    

         ในหลายบริษัทได้มีการพิจารณาจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานและคณะกรรมการบริษัท หากเป็นโบนัสที่มีข้อกำหนดไว้เป็นการแน่นอนว่าต้องจ่าย มิใช่กรณีที่กำหนดจ่ายจากกำไรสุทธิหรือกำไรขั้นต้นที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีอันเป็นข้อกำหนดพิเศษ ซึ่งในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ไม่ยอมให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ก็ย่อมนำโบนัสที่จ่ายไปถือเป็นรายจ่ายในทางภาษีอากรได้

 
    กรณีการจ่ายโบนัสพิเศษมีการหารือไปยังกรมสรรพากรว่า บริษัทฯประกอบกิจการซื้อขายคอมพิวเตอร์ และรับบริการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ บริษัทฯได้มีการจ่ายเงินให้กับบุคคล ดังนี้

    1. การจ่ายโบนัสพิเศษให้แก่พนักงาน ของบริษัทฯ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงานและจูงใจให้พนักงานมีความมุ่งมั่นในการทำงาน ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสพิเศษโดยจะพิจารณาและประเมินผลการทำงานของพนักงานแต่ละคนในช่วงที่ผ่านมาในรอบปีนั้นจากคะแนนที่หัวหน้างานและจากคณะกรรมการบริหารบริษัทฯประเมิน

    2. การจ่ายเงินโบนัสพิเศษให้แก่คณะกรรมการบริหาร เพื่อให้การบริหารบรรลุเป้าหมายและเพื่อ ประโยชน์สูงสุดขององค์กร บริษัทฯจึงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพิเศษให้แก่คณะกรรมการบริหารเป็นอัตราร้อยละตามยอดขายเป็นลักษณะขั้นบันไดตามยอดขายที่สามารถทำได้ตามเป้ายอดขายแต่ละขั้น ตามที่ คณะกรรมการบริหารสามารถบริหารกิจการได้โดยเกณฑ์ในแต่ละปีจะมีการทบทวนและกำหนดเป็นมติทุกๆปีในช่วงต้นปีนั้นๆ

    เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยว่า กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสพิเศษให้แก่พนักงาน และคณะกรรมการบริหาร ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสพิเศษของบริษัทฯ ที่คณะกรรมการบริหารกำหนดในแต่ละปี ดยพิจารณาจากผลการงานการขาย และการทำประโยชน์ให้แก่กิจการของบริษัทฯ การจ่ายเงินโบนัสพิเศษดังกล่าว บริษัทฯมีสิทธิถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/3384 วันที่ 19 มิถุนายน 2551)

          ดังจะเห็นได้ว่า ในกฎหมายภาษีอากรห้ามมิให้กำหนดรายจ่ายจากกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น
 กรณีของบริษัทที่หารือ กำหนดรายจ่ายโบนัสจากยอดรายได้ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร เพราะกฎหมายเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามเป็นกฎหมายพิเศษที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด หากไม่เข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กิจการก็ย่อมนำไปถือเป็นรายจ่ายได้ดังเช่นตัวอย่างข้อหารือที่ยกข้างต้น

 

    ภาษีโบนัส คิดอย่างไร

          เงินโบนัสที่ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเดียวกับเงินที่พนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาหรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกันได้รับ กล่าวคือ หากเป็นพนักงาน ลูกจ้าง เงินเดือนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร โบนัส ที่ได้รับก็เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกัน และหากเป็นกรณีกรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ซึ่งได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร โบนัสที่ได้รับก็จัดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร


          ดังนั้น เมื่อพนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาหรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกันได้รับเงินโบนัสจึงมีหน้าที่จะต้องนำโบนัสที่ได้รับไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้พึงประเมินประจำปีด้วย ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ส่วนบริษัทนายจ้างนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินโบนัสก็มีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ซึ่งวิธีการในการคำนวณหัก ณ ที่จ่ายก็สามารถดูตัวอย่างได้จากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.96/2543 เรื่อง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 และสามารถนำเงินโบนัสที่จ่ายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายของกิจการได้ตามปกติ ในกรณีนี้พนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาหรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกันสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้นั้นไปเครดิตภาษีได้ตามปกติ


          มีข้อสังเกตว่า โดยหลักแล้วภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณภาษีเงินได้ ดังนั้น ในกรณีการได้รับโบนัสของพนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาหรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน จึงต้องพิจารณาถึงช่วงเวลาที่ได้รับเงินโบนัสจริงด้วย หากได้รับภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ผ่านมา พนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาหรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกันก็จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณีภายในเดือนมีนาคมของปีนี้ แต่หากได้รับในภายหลัง เช่น ได้รับในวันที่ 1 มกราคมของปีนี้ ก็จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 แล้วแต่กรณีภายในเดือนมีนาคมของปีหน้า

 

ที่มา : www.pattanakit.net 

 24244
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์