5 กลยุทธ์ หยุดทุกข้อขัดแย้ง

5 กลยุทธ์ หยุดทุกข้อขัดแย้ง





     

          การบริหารทรัพยากรบุคคล หาจัดการความแตกต่างไม่ได้ อาจกลายเป็นความแตกแยก ที่ลุกลามบานปลาย กลายเป็นเรื่องป่วน ชวนทะเลาะ ผลัดกันชนะ แพ้ แล้วแก้เอาคืน...ไม่รู้จบ

ยุคนี้ ยามที่โลกเปลี่ยนไป ทั้งมาก ทั้งไว จนเราทุกคนต่างต้องตั้งหลักใหม่ในหลายเรื่องราว โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลง อันมากับความคิดที่หลากหลายและแตกต่างยิ่ง  เมื่อจัดการความหลากหลายได้ดี จะมีคุณอนันต์ เพราะความต่างเป็นแหล่งกำเนิดของการพัฒนาก้าวไกล ทำให้ไม่ย่ำอยู่กับที่ 

 

กลยุทธ์ เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ว่าแต่ละครั้ง สมควรเน้น “เนื้องาน” และ/หรือ เน้น “เนื้อใจ” เป็นหลัก ดังนี้

 

  • กลยุทธ์ Compete รุก

รูปแบบนี้ เหมาะกับสถานการณ์ที่ข้อขัดแย้งเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งสำหรับเรา และความสัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งเป็นเรื่องรอง ไม่ว่าจะรักจะชอบกับอีกฝ่ายแค่ไหน เราก็หยวนยอมเขาไม่ได้ในเรื่องนี้

ตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้งเป็นเรื่องกฎหมายบ้านเมือง กติกา และนโยบายสำคัญ โอนอ่อนผ่อนตามใครไม่ได้ อย่างไรก็ต้องเข้ม!  กระนั้นก็ดี หากใช้วิธีการนี้พร่ำเพรื่อ คนรอบข้างย่อมเบื่อ เพราะเล่นกับเราทีไร ถูกบี้ให้แพ้ประจำ จึงไม่ต้องแปลกใจ หากในที่สุด ไม่มีใครอยากเล่นด้วย

  • กลยุทธ์ Accommodate ยอม

วิธีนี้เอาไว้ใช้เมื่อเรื่องขัดแย้งสำคัญน้อย ยอมเขาแล้วเราไม่เสียหาย หรือเสียบ้าง แต่อยู่ในเกณฑ์รับได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญ และเนื้องานสำคัญเป็นรองยิ่งเป็นเรื่องภายใน ทั้งในครอบครัว ในทีม ในประเทศเดียวกัน ยอมกันได้ จงยอมบ้างเถิด จะเกิดผลทั้งความสัมพันธ์ที่เพียรสั่งสมไว้ จะให้คุณ เกื้อหนุนยามที่เราเดือดร้อนในภายหน้า  คนที่ยอมคนเป็น ถือว่ามีความกล้า มิใช่เรื่องเสียศักดิ์ศรี

กระนั้นก็ดี หากพี่ยอมเรื่อยเปื่อย ยอมให้แม้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ถือเป็นการใช้วิธีนี้แบบสิ้นเปลือง เป็นเรื่องใจดีผิดที่ผิดทาง แถมอาจถูกประณามว่าเป็นคน “หาน้ำยายาก”

  • กลยุทธ์ Compromise ประนีประนอม

ใช้เมื่อข้อขัดแย้งมีความสำคัญระดับกลาง และเรากับคู่กรณีก็ยังมีเยื่อใย อยากประคองต่อไปจะหักหาญน้ำใจ ก็ไม่เหมาะ เอาว่าพบกันกึ่งหนึ่ง หรือ ครึ่งค่อนทาง อาทิ การต่อรองราคาสินค้า การเคาะระยะเวลาส่งมอบงาน ฯลฯ  วิธีนี้ เรามักคุ้นเคย จึงใช้ไม่ยาก แต่ก่อนใช้ ควรลองไล่เลียงดูว่า มีกลยุทธ์อื่นๆที่เหมาะกว่าวิธีนี้ไหม  โดยเฉพาะ อย่าใช้วิธีประนีประนอม โดยหลงผิดคิดว่า เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะต่างฝ่ายต่างโอนอ่อนให้กันแบบ “Win-Win”!

  • กลยุทธ์ Avoid เลี่ยง

กลยุทธ์นี้ใช้ดียามที่ยังหาทางออกเพื่อแก้ข้อขัดแย้งไม่ได้ อาทิ นาทีนี้ รุกไปก็แตกหัก ครั้นจะยอมอ่อนให้ ก็ไม่เหมาะ เพราะเรื่องที่ขัดแย้งสำคัญเกินไป ไม่ควรยอม  สถานการณ์ที่เหมาะสม มีอาทิ ยามที่ต่างมีอารมณ์คุกรุ่น คุยต่อย่อมไม่เป็นคุณแก่ใคร จึงควรชะลอการหารือไว้ก่อน หรือ ใช้ยามที่ต้องถอยตั้งหลัก ซื้อเวลาหาข้อมูลเพิ่มเติม เป็นต้น กระนั้นก็ดี หากใช้วิธีนี้อย่างเกินเลย จะคล้ายลอยตัวอยู่เหนือปัญหา หรือกลัวข้อขัดแย้ง จึงแกล้งนั่งทับมันไว้ โดยหวังว่าปัญหาจะหายไปทั้งนี้ นอกจากปัญหาจะไม่หายไปไหน ยังอาจลุกลาม ตามหลอกหลอนเรื้อรัง

  • กลยุทธ์ Collaborate แก้ปัญหาร่วมกัน

รูปแบบสุดท้าย คือ วิธีที่เราเรียกว่า “Win-Win” เพื่อใช้แก้ข้อขัดแย้งที่มีเนื้อหาสำคัญมาก ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้องาน

“Win-Win” ต่างจากกลยุทธ์อื่นคือ ใช้วิธีปรับ “โจทย์” ที่ต้องแก้ใหม่ โดย “ขุด” ลงไปสู่ “สาเหตุ” ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แล้วแก้ที่ “สาเหตุ” นั้นแทน

ตัวอย่างเช่น ลูกน้อย 2 คน ทะเลาะแย่งส้มที่เหลือเพียง 1 ลูก

-หากคุณพ่อแบ่งแบบประนีประนอม (compromise) ผลคือ แบ่งกันคนละครึ่ง 

-หากแบ่งแบบ พี่ต้องเสียสละให้น้อง ผลคือ น้องยึดส้มทั้งลูก (Compete) ขณะที่พี่ยอมเสียสละ (Accommodate)

-หากต้องการแก้แบบ “Win-Win” ขั้นตอนแรกคือ ขุดลึกลงไป เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกทั้งสองต้องแย่งส้มกัน

หากสาเหตุเป็นเพราะ “ความหิว” คุณพ่อจะได้โจทย์ใหม่ ที่มักมีวิธีแก้ไขได้มากกว่าเดิม เช่น แซนวิช พิซซ่า สารพัดขนมนมเนย ที่คุณพ่อพอหาได้ เพื่อใช้แก้ “ความหิว”

คำตอบใหม่ จึงหลุดจากกรอบเดิม ที่ยึดติดที่ “ลูกส้ม” ผลคือ พี่น้องล้วน “Win-Win” เพราะต่างอิ่มกว่าการแก้ปัญหาด้วยส้มเพียงอย่างเดียว การใช้วิธีนี้ จึงต้องต่างลดอคติ พร้อมเปิดใจฟัง และคิดหาทางออกใหม่ร่วมกัน

กระนั้นก็ดี แม้วิธีนี้จะดูหรูหราน่าใช้ แต่ก็มิใช่เหมาะกับทุกสถานการณ์ เพราะเป็นวิธีที่ต้องทุ่มเททั้งกำลังสมอง กำลังใจ และ ใช้เวลา

ตัวอย่างเช่น หากปัญหาเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย กรุณาถอยไปใช้วิธีที่ง่ายและเร็วกว่า อาทิ ยอม Accommodate โดยไม่ต้องใช้วิธี “Win-Win” ที่ต้องถอดสมการหลายชั้นเกินจำเป็น


ที่มา : www.bangkokbiznews.com

 

 550
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์