ปรับองค์กรด้วย Zero-based Mindset

ปรับองค์กรด้วย Zero-based Mindset





          การทำแผนธุรกิจและตั้งงบประมาณแบบไม่ยึดตัวเลขในอดีต ไม่ใช้ Base line เดิมเป็นบรรทัดฐาน กำลังเป็นแนวทางที่ผู้บริหารองค์กรจำเป็นต้องเลือกเดิน แม้รู้ดีว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิด “Pain” อย่างมากสำหรับคนทำงาน  ผู้บริหารทุกระดับต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าในการทำข้อมูลแยกแยะรายละเอียดและเหตุผลของการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกรายการ

          การตัดสินใจที่จะนำพาองค์กรเดินหน้าต่อด้วยการปรับแผนการบริหารจัดการทรัพยากรให้เป็นรูปแบบ Zero-based Budgeting มักเป็นช่วงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤติหรืออยู่ในสถานการณ์ที่อนาคตของธุรกิจเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ข้อมูลจาก Gartner ระบุว่า 300 บริษัทใหญ่ในโลกนำแนวทางนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2018 และเริ่มขยายวงไปแทบทุกอุตสาหกรรม ยักษ์ใหญ่อย่าง GM, Philip Morris, Unilever, Walgreens, Tesco, Kraft Heinz ล้วนใช้แนวทางนี้เพื่อทำให้วางแผนใช้ทรัพยากรอย่างรัดกุม มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักขององค์กร

         ในยุคปัจจุบันที่องค์กรธุรกิจอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาได้ยาก การวางแผนการทำงานแบบไม่ยึดบรรทัดฐานเดิมเป็นตัวตั้ง อาจต้องมองกว้างไปกว่าแค่เรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษา Accenture พูดถึงแนวคิด Zero-based Mindset ในหนังสือชื่อ The Big Zero ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

          การนำพาองค์กรให้รอดวิกฤติในยุค “Massive Disruption” จำเป็นต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยด้วยมุมมองใหม่ อีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องละวางสิ่งที่เป็น “อดีต” กลยุทธ์เดิม ๆที่เคยทำให้ประสบความสำเร็จหรือกระทั่งโมเดล/ระบบงานที่เคยถูกพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ การใช้บรรทัดฐานเดิมมากำหนดอนาคต จะทำให้องค์กรปรับตัวไปข้างหน้าได้ยาก 

  • แนวคิดของการมองธุรกิจผ่านเลนส์ใหม่แบบ Zero-based ควรมองให้ครบทั้ง 4 มุมนั่นคือ


1) Zero-based Organization การออกแบบโครงสร้างองค์กรและโมเดลธุรกิจใหม่ให้ความสำคัญกับอนาคตมากกว่าใช้โครงสร้างเดิมเป็นตัวตั้ง ผู้บริหารสูงสุดต้องตั้งคำถามและหาคำตอบที่ชัดเจนให้ได้ว่า โมเดลธุรกิจในอนาคตขององค์กรจะเป็นอย่างไร เพื่อปรับโครงสร้างและโยกย้ายกลุ่มพนักงาน “Talent” ไปอยู่ในจุดที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงปรับระบบการบริหารจัดการให้สอดรับกับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจใหม่

2) Zero-based Commercial ทบทวนกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับ Commercial ทั้งหมด ตั้งแต่ Customer Portfolio, Product Mix, ช่องทางการขาย การให้บริการ, สัดส่วนรายได้และกำไรของลูกค้าแต่ละกลุ่ม กรอบความคิดแบบ Zero-based จะทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าในอนาคตธุรกิจกลุ่มไหนที่ควรทำ (และไม่ควรทำต่อ)

3) Zero-based Supply Chain สำหรับองค์กรใหญ่ การปรับ Supply Chain Strategy มักนำไปสู่ความซับซ้อนหลายเรื่องทั้งงบประมาณ การบริหารคู่ค้าและลูกค้า รวมถึงผลกระทบกับพนักงาน แต่การมองผ่าน Zero-based approach คือการออกแบบห่วงโซ่ทั้งหมดของระบบ Supply Chain เพื่อรองรับโมเดลธุรกิจและโครงสร้างในอนาคตมากกว่าการยึดติดกับโครงสร้างในอดีต

4) Zero-based Spending เมื่อองค์กรสามารถก้าวออกจากอดีตได้ในเรื่องหลัก ๆได้แล้ว ทั้งเรื่องของ Structure, Commercial, และ Supply Chain การวางแผนเชิงกลยุทธ์เรื่องการจัดการงบประมาณและต้นทุนก็จะสามารถเดินไปด้วยกันได้อย่าคล้องจองและลงตัวที่สุด

          ท่ามกลางพายุของความเปลี่ยนแปลงและอนาคตที่กำลังไล่ล่า การ Transform องค์กร อาจหมายถึงการมองทุกส่วนภายในองค์กรด้วยมุมมองใหม่ การขับเคลื่อน Zero-based Mindset จะทำให้เกิดพฤติกรรมองค์กรที่เชื่อมโยงกับอนาคตได้ดีกว่าแบบเดิมที่เน้นแค่การพัฒนาและปรับปรุงจากสิ่งเดิมที่เคยทำกันมา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 1652
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์