ภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าทดลองใช้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าทดลองใช้




 

       

          ในปัจจุบัน การส่งเสริมการขาย โดยการแจกสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าทดลองใช้งาน หรือ การนำสินค้าจริงไปให้ลูกค้าทดลองใช้ในกิจการ จะเป็นการจัดทำการส่งเสริมการขายทางการตลาดที่สำคัญวิธีหนึ่ง

ในบางบัญชีและภาษีของการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขาย โดยปฎิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องของกรมสรรพาการตามแนบทางปฎิบัติดังต่อไปนี้

กรณีที่ 1  : มอบสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ เมื่อลูกค้าพอใจในสินค้าดังกล่าว —  ถือว่าเป็นการขายตั้งแต่วันที่มอบสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้


กรณีที่ 2 : มอบสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ เมื่อลูกค้าพอใจในสินค้าดังกล่าว ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าตัวใหม่ให้ – ไม่ให้ ถือเป็นการขาย เฉพาะกรณีที่เข้าตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
             1. สินค้าทดลองใช้ที่ผู้ขายมีไว้สำหรับให้ทดลองใช้โดยเฉพาะเท่านั้น
             2. ระยะเวลาที่ให้ทดลองใช้สินค้านั้น เพียงชั่วคราว 
             3. ต้องมิใช่เป็นสินค้าชนิดที่เป็นของใช้สิ้นเปลือง


ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแจกสินค้าทดลอง คูปองส่วนลด และการส่งเสริมการขาย

ข้อหารือ          

บริษัทฯ ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องสำอาง บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมการขายหลายกรณี จึงขอทราบว่า

           1. กรณีแจกสินค้าตัวอย่างให้กับลูกค้าเพื่อส่งเสริมการขาย บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าตัวอย่างที่แจกให้กับลูกค้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

           2. กรณีแจกคูปองให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าในแต่ละครั้งครบตามจำนวนที่บริษัทฯกำหนด ลูกค้ามีสิทธินำคูปองมาใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าในครั้งต่อไป บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีตามราคาสินค้าหักด้วยมูลค่าคูปองทั้งจำนวนได้หรือไม่

           3. กรณีจัดรายการส่งเสริมการขาย โดยแจกคูปองให้ลูกค้าฟรีจากการที่ลูกค้าสะสมแต้มจากการซื้อสินค้าครบจำนวน จากการชิงโชค และจากการเล่นเกม โดยลูกค้ามีสิทธินำคูปองมาใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าครั้งต่อไป บริษัทฯ จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีใด

           4. กรณีแจกสินค้าที่มีไว้เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า เพื่อเป็นการทดลองใช้สินค้า มูลค่าของสินค้าที่แจกดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่


แนววินิจฉัย

           1. กรณีตาม 1 การแจกสินค้าตัวอย่างเพื่อส่งเสริมการขาย บริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าสินค้าตัวอย่างที่แจกเนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4)แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535

           2. กรณีตาม 2 การแจกคูปองให้กับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้านำคูปองมาใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าในครั้งต่อไป ซึ่งบริษัทฯ ให้ส่วนลดตามนั้น ถือเป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้แก่ผู้ซื้อในขณะขายสินค้า ดังนั้น ในการออกใบกำกับภาษีให้ใช้ราคาสินค้าหักด้วยส่วนลดเป็นมูลค่าของฐานภาษี โดยแสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่า ได้มีการหักส่วนลดไว้แล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

           3. กรณีตาม 3 การให้ส่วนลดในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ บริษัทฯ ไม่ต้องนำส่วนลดดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ส่วนการให้ส่วนลดหลังจากที่ขายสินค้าหรือให้บริการ หากการให้ส่วนลดดังกล่าวได้ให้กับบุคคลโดยทั่ว ๆ ไป เพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมการขายหรือการให้บริการ ส่วนลดนั้นถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ รายจ่ายในกรณีนี้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

           4. กรณีตาม 4 การแจกสินค้าที่มีไว้เพื่อจำหน่าย ให้ลูกค้าทดลองใช้สินค้าเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้ารถยนต์ให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ

ข้อหารือ

          บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้ารถยนต์ให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

          1.บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยรถยนต์ที่บริษัทฯ ทำการผลิตนั้น มีทั้งรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถยนต์กระบะ

          2.ในการผลิตรถยนต์จำหน่ายดังกล่าว บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องนำรถยนต์ที่เป็นสินค้าที่บริษัทฯ ผลิตไปให้ผู้แทนจำหน่ายซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ ทำการทดลองใช้งานเป็นการชั่วคราว เพื่อทดลองคุณภาพในการประกอบหรือการผลิตของบริษัทฯ และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งานจริงในด้านต่าง ๆ เช่น อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการเร่ง ความปลอดภัยในการขับขี่ เป็นต้น

          3.ในการนำรถยนต์ไปให้ผู้แทนจำหน่ายทดลองใช้งานดังกล่าว จะมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาในการทดลองใช้ไว้แน่นอน โดยตลอดเวลาดังกล่าวผู้แทนจำหน่ายสามารถนำรถยนต์ให้ลูกค้าที่ประสงค์จะซื้อรถยนต์ทำการทดลองขับได้ และต้องจัดทำสมุดรายงานการใช้ (Control Book) ระบุรายละเอียดของลูกค้าที่ทดลองขับทุกครั้ง

          4.บริษัทฯ บันทึกบัญชีรถยนต์ดังกล่าวเป็นสินค้ารอการขาย (Inventory) โดยในเอกสารประกอบการจดทะเบียนได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นรถยนต์เพื่อใช้ในการทดลองใช้ และเมื่อสิ้นสุดการทดลองใช้แล้ว บริษัทฯ จะขายรถยนต์ดังกล่าว ในลักษณะของรถยนต์สาธิต (Demonstration Car) ต่อไป บริษัทฯ หารือว่า การที่บริษัทฯ ส่งมอบรถยนต์ที่ผลิตให้ผู้แทนจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าทดลองใช้ดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าของค่าตอบแทนที่พึงได้รับจากการมอบสินค้าให้ผู้ซื้อทดลองใช้งานก่อนซื้อมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ใช่หรือไม่


แนววินิจฉัย

          กรณีที่บริษัทฯ นำรถยนต์ที่ผลิตเพื่อขายให้ผู้แทนจำหน่ายและลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์ทดลองใช้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการมอบสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ บริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าของค่าตอบแทนที่พึงได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (11) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535

 
การเสียภาษีกรณีส่งสินค้าออกไปเป็นตัวอย่าง

          1. กรณีบริษัทส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกค้าโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อส่งเสริมการขายของบริษัท ไม่ว่าลูกค้าดังกล่าวจะเป็นลูกค้าในประเทศ หรือต่างประเทศ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในประเทศ บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่ส่งไปเป็นตัวอย่างมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทมีสิทธินำมูลค่าของสินค้าตัวอย่างตามราคาต้นทุนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฏากร

          2. การส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการขายโดยการส่งออกตามมาตรา 77/1 (8) และ (14) แห่งประมวลรัษฏากร ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 ดังนั้นบริษัทต้องนำไปรวมเป็นยอดขายโดยการส่งออกในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

(หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/7715 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2543)

 

         
ที่มา : www.beeaccountant.com 

 

 12343
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์