อาชีพนักบัญชี กับ 5 คำสอนของพ่อ

อาชีพนักบัญชี กับ 5 คำสอนของพ่อ



แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสร็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว แต่ทว่าคำสอนของพระองค์ก็ยังคงอยู่และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของพวกเราชาวไทยให้น้อมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต จะดีมั้ยถ้าเราสามารถประยุกต์ใช้คำสอนนั้นกับการทำงานในอาชีพนักบัญชี หรือสาขาวิชาชีพบัญชีของพวกเราได้บ้าง   เพื่อไม่ให้คำสอนของพระองค์สูญหายไปกับกาลเวลา บทความนี้จึงได้รวบรวม 5 คำสอนของพ่อ ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้กับวิชาชีพบัญชี เผื่อว่าวันใดที่กำลังจะหลงทาง ให้ลองนึกถึงคำสอนเหล่านี้ดู บางทีเราอาจจะเจอทางที่สว่างและสุขใจก็เป็นได้

1. ต้องมีความสุจริต

     “คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ…” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 12 กรกฎาคม 2522ความซื่อสัตย์สุจริตนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพบัญชี อาชีพเรามักอยู่คู่กับตัวเองและเงินทองของคนอื่นเสมอ ดังนั้น ความตั่งมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตจะช่วยให้เราสามารถยับยั้งกิเลสในจิตใจได้

2. ทำงานด้วยความศรัทธา

     “งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ แต่เมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงาน โดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย”    พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2536   ความศรัทธาในงานที่เราทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราเลือกที่จะประกอบวิชาชีพบัญชีแล้ว ลองถามตัวเองดูว่าเรามีความศรัทธาในงานหรือไม่ เรารักหรือชอบที่จะทำอาชีพนี้หรือไม่ เพราะความศรัทธาในงานจะนำพาให้เราไปสู่เอาใจใส่ ค้นคว้า แสวงหาความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพของเราอย่างสม่ำเสมอ และผลสุดท้ายของความศรัทธานั้นย่อมแสดงให้เห็นในรูปแบบของผลงานที่สำเร็จบรรลุตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

3. ยึดมั่นในจรรยาบรรณ

     “การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงามที่คนในอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติ หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้ เหตุนี้ ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะต้องมีความรู้ในสาขาของตนอย่างลึกซึ้ง จัดเจนและศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอแล้ว ยังจะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย จึงจะสามารถประพฤติตนปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ”  พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 4 กรกฎาคม 2540  จรรยาบรรณเป็นพื้นฐานของการประกอบวิชาชีพบัญชี หลายคนมองข้ามและละเลย เช่นในเรื่องของความโปร่งใสและความเป็นอิสระ เพราะหากเราไม่มีความโปร่งใสและเป็นอิสระในการประกอบวิชาชีพแล้วอาจจะทำให้งบการเงินถูกจัดทำขึ้นโดยไม่ได้แสดงข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อผู้ใช้งบการเงินในวงกว้าง

4. ความรู้คู่คุณธรรม

     “ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสําคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับใช้กระทําการทํางาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม”  พระราชดํารัส พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2519   ความรู้ทางด้านบัญชีเป็นความรู้เฉพาะทางที่ทุกๆ ธุรกิจจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ด้านนี้จากเรา แต่ทว่าแค่ความรู้อย่างเดียวคงไม่พอสำหรับอาชีพนี้ คุณธรรมนั้นจะเป็นสิ่งค้ำชูให้เราใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะว่าผลของการกระทำของเรานั้นจะกระทบต่อบุคคลหลายๆ ผ่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร พนักงานในบริษัท ผู้ใช้งบการเงิน ตลอดจนประเทศชาติในภาพรวม

5. ความพอเพียงเป็นสิ่งสำคัญ

     “ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้า ใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอําเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง มากนัก ...มีเงินเดือนเท่าไหร่จะต้องใช้ภายในเงินเดือน...กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สําหรับ ไปเล่น ไปทําอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”   พระราชดํารัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540   ความพอเพียงจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับนักบัญชีอย่างเรา ถ้าวิเคราะห์ให้ดีๆ ความพอเพียงนี้สามารถเชื่อมโยงกับนโยบายการรับงานของนักบัญชีได้ บางคนรับงานมากๆ แต่ทำไม่ไหว ไม่ทันเวลา ก็ย่อมส่งผลเสียต่อตนเองในภายหลัง ถ้าเราลองประเมินเวลาและความสามารถของเราจากนั้นค่อยๆ รับงานในจำนวนที่เหมาะสมและในราคาที่ยุติธรรม มันน่าจะสบายใจและยั่งยืนในอนาคตมากกว่าไหม   การจากไปของในหลวงรัชกาลที่ 9 กระตุ้นให้ใครหลายๆ คนลุกขึ้นมาทำความดี สำหรับนักบัญชีแล้ว 5 คำสอนนี้คงช่วยเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพของเราได้ ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มต้น จะเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายนะคะ

บทความ: www.thaicpdathome.com

 1743
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์