ทำความเข้าใจระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ทำความเข้าใจระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)



ผู้ประกอบการมือใหม่ที่ได้ยินคำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT มักจะรู้สึกสับสนและวุ่นวายในใจอยู่ไม่น้อย เพราะเหมือนจะต้องเสียกำไรที่หามาได้ไปกับเรื่องพวกนี้ และมองว่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เป็นตัวปัญหาในการทำธุรกิจชัดๆ แต่เดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่งเครียดไป เพราะวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ให้ดียิ่งขึ้น


ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?

ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เป็นภาษีอากรประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชน โดยมีอัตราในการจัดเก็บอยู่ที่ 7% ของราคาสินค้าหรือการให้บริการ ซึ่งหลักฐานที่แสดงว่าคุณได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือ “ใบกำกับภาษี” หรือใบเสร็จอย่างย่อที่มักจะได้เมื่อซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าขนาดใหญ่

เพราะฉะนั้นเมื่อมีการใช้จ่ายมาก จำนวนการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมากขึ้นด้วย และสำหรับคนทำธุรกิจอาจสงสัยว่าในเมื่อจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วทำไมจะต้องจ่ายภาษีเงินได้อีก เราขอบอกเลยว่าภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้ขายสามารถผลัก “ภาระ” ไปให้กับผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคเป็นผู้ชำระแทนได้ ดังนั้นในการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายคุณยังจำเป็นจะต้องจ่ายภาษีเงินได้อยู่

ทำอย่างไรให้ธุรกิจเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง

ก่อนอื่นเราขอบอกเลยว่าการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน้าที่ที่คุณต้องกระทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ถูกต้อง เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วคุณจะต้องทำหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีขายทุกครั้งที่ทำการขายหรือให้บริการ จากนั้นก็นำใบกำกับภาษีไปจัดทำรายงานภาษีตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด และสุดท้ายคือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร

เกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อเข้าใจแล้วว่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT คืออะไร ต่อมาให้คุณลองพิจารณาว่าธุรกิจของคุณควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ง่ายๆ ที่เรานำมาบอกคุณในวันนี้ก็คือ

1. พิจารณาว่าธุรกิจของคุณได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เพราะการทำธุรกิจบางประเภทจะได้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ซึ่งก็หมายความว่าหากธุรกิจของคุณได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่จำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีนั่นเอง

ส่วนธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็คือผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยานเป็นต้น

2. ตรวจสอบรายได้ภายในธุรกิจของคุณว่าเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่ หากไม่ถึงก็ไม่จำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะยังไม่ตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ในกรณีที่ในปีนั้นๆ มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท สิ่งที่คุณต้องทำคือการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน และเริ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาทเป็นต้นไป


เราเชื่อว่าอ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เพิ่มมากขึ้น และเลิกกังวลใจกับเรื่องราวของภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว หากต้องการให้การดำเนินธุรกิจไปอย่างราบรื่นก็อย่าลืมหันมาใส่ใจการทำบัญชีด้วยนะคะ เพราะการทำบัญชีที่ดีจะทำให้คุณทราบถึงสถานการณ์ภายในกิจการได้เป็นอย่างดี


ที่มา: SMEMOVE

 1603
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์